ไข้หวัดธรรมดา VS COVID-19

covid-19-18-03-20
สถานการณ์ไวรัส Covid-19 ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดตอนนี้ประเทศไทยมีจำนวนผู้ติดชื้ออยู่ที่ 1,388 คน (ข้อมูลอัพเดตล่าสุดเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2563) ซึ่งในหลายคนพอเริ่มมีอาการเจ็บป่วย มีไข้ ไอ เจ็บคอ อาจกำลังวิตกกังวลว่าตัวเราเป็น “ไข้หวัดธรรมดา” หรือติด “ไวรัส COVID-19” กันแน่ วันนี้ มาดูกันค่ะ ว่าอาการของไข้หวัดธรรมดา กับ อาการของ Covid-19 ต่างกันอย่างไรบ้าง

ไข้หวัดธรรมดา มักเกิดจากเชื้อไวรัสไรโนไวรัส (Rhinovirus) 30-80% เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคกับจมูก คือหวัดธรรมดา และไวรัสอีกชนิดที่เป็นสาเหตุของไข้หวัดคือ โคโรนาไวรัส (Coronavirus) 10-15% แต่เป็นไวรัสโคโรนาที่ค้นพบ และมีมานานแล้ว โดยมีการพบเชื้อไวรัสโคโรนาที่ติดต่อในมนุษย์แล้ว 6 สายพันธุ์ ส่วนโรค COVID-19 เกิดจาก ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ซึ่งทำให้มีอาการปอดอักเสบรุนแรงได้ โดยเป็นเชื้อไวรัสที่เพิ่งถูกค้นพบใหม่ นับเป็นสายพันธุ์ที่ 7 ของไวรัสโคโรนาที่ติดต่อในมนุษย์

อาการของโรคไข้หวัดธรรมดา

  • มีไข้ต่ำๆ ถึงมีไข้สูง ผ่านไป 3-4 วัน อาการจะเริ่มดีขึ้น
  • อาจมีไอ จาม เล็กน้อย ผ่านไป 3-4 วัน อาการจะเริ่มดีขึ้น
  • ไม่มีอาการท้องเสีย
  • น้ำมูกไหล มีอาการคัดจมูก ทำให้หายใจไม่สะดวก
  • ปวดตามตัว รู้สึกอ่อนเพลีย

อาการของโรคไวรัส COVID-19

  • มีไข้สูงมากกว่า 37.5 องศา
  • ไอ มีเสมหะ เจ็บคอ นานติดต่อกันมากกว่า 4 วัน
  • บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียร่วมด้วย
  • หายใจลำบากมีไอร่วมด้วย ในบางรายรุนแรงถึงขั้นปอดอักเสบ หรือปอดบวม
  • ปวดเมื่อยตามตัว ทานอาหารไม่ค่อยได้

ความรุนแรงของโรค

ไข้หวัดธรรมดา มักไม่มีโรคแทรกซ้อนรุนแรง และไม่มีอาการที่รบกวนชีวิตประจำวันมีอาการอยู่ไม่นาน หากดูแลร่างกาย พักผ่อนให้เพียงพอ อาการไข้หวัดจะค่อย ๆ หายไปเองใน 3-4 วัน

ไวรัส COVID-19 พบอาการปอดอักเสบอันนำไปสู่การเสียชีวิต ซึ่งความรุนแรงของโรคนี้จะแตกต่างกันตามความแข็งแรงของแต่ละคน

อย่างไก็ตามหากใครมีอาการ มีไข้สูงมากกว่า 37.5 องศา, ไอ เจ็บคอ, น้ำมูกไหล, หายใจเหนื่อยหอบ หายใจลำบาก ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจและวินิจฉัยโรคนะคะ เพราะนอกจากจะทำการรักษาให้เหมาะสมแล้ว กรณีที่มีการติดเชื้อ COVID-19 ผู้ป่วยจะได้ระวัง แยกตัวเอง และระมัดระวังไม่นำเชื้อไปติดกับคนอื่นต่ออีกด้วยค่ะ

———-

ขอบคุณข้อมูล : โรงพยาบาลศิครินทร์

ป้องกันตัวเองจาก COVID-19

5e7de5ec392a9_SARS-CoV-2 Research
ท่ามกลางความกังวล ของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ COVID-19 วันนี้ เรามาทำความเข้าใจ และรู้จักวิธีการระมัดระวัง ป้องกัน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อกันค่ะ

กลุ่มไวรัสโคโรนานั้น ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อประมาณปี ค.ศ. 1960 ทำให้เกิดไข้หวัดทั่วไป แต่ไม่ได้มีอาการรุนแรงมาก ล่าสุดพบที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสายพันธุ์ใหม่ต่างจากที่เคยเจอมาก่อน มีอาการตั้งแต่เล็กน้อย ปานกลาง ถึงรุนแรง และมีการแพร่กระจายเชื้อได้

โคโรนา มีรูปร่างคล้ายมงกุฎ พบครั้งแรกกลางทศวรรษที่ 1960 โดยมีเชื้อไวรัสโคโรนาอยู่ 4 สายพันธุ์ใหญ่ ๆ ด้วยกัน แต่ตัวที่ระบาดมากที่สุดคือ SARS-CoV พบครั้งแรกที่ประเทศจีน ปี ค.ศ. 2002-2003 ซึ่งได้ระบาดไปทั่วโลกและมีอัตราการเสียชีวิตสูง ต่อมาพบเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ MERS-CoV เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศซาอุดิอาระเบีย ในแถบตะวันออกกลาง

จนกระทั่งล่าสุดพบ “เชื้อไวรัสโคโรนา 2019” ที่เมืองอู่ฮั่น เมืองหลวงของมณฑลหูเป่ย ตอนกลางของประเทศจีน โดยบริเวณที่พบผู้ป่วยมากที่สุดและคาดว่าน่าจะเป็นรังของโรค  คือ  ตลาดอาหารทะเลและสัตว์หายากในเมือง  ซึ่งได้แพร่กระจายไปในหลายเมืองในประเทศจีน  และหลายประเทศ  เช่น ไทย เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง มาเก๊า ญี่ปุ่น มาเลเซียเวียดนาม สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา เป็นต้น

โดยเฉพาะในประเทศไทยเอง ผู้ป่วยรายแรกที่พบนั้นเป็นนักท่องเที่ยวหญิงชาวจีนอายุ 61 ปี จากเมืองอู่ฮั่น ซึ่งมีอาการไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะและเจ็บคอ สามวันก่อนเดินทางมาที่ประเทศไทย ต่อมาได้เดินทางมาพร้อมครอบครัวเพื่อท่องเที่ยว เมื่อเดินผ่านเครื่องตรวจจับความร้อนที่สนามบิน (Thermo scan) จึงพบว่ามีไข้ และถูกส่งตัวไปนอนรักษาที่โรงพยาบาลทันที อีกสองวันต่อมา ทางโรงพยาบาลสามารถแยกเชื้อโดยวิธีการทางโมเลกุลได้ว่าเป็นเชื้อ “ไวรัสโคโรนา 2019” จึงรายงานไปที่องค์การอนามัยโลก และประเทศไทยได้ประกาศว่าเป็นประเทศแรกนอกเหนือจากประเทศจีน ที่มีผู้ป่วยไวรัสโคโรนา

หากได้รับเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ผู้ป่วยจะเริ่มแสดงอาการออกมาภายใน 1 วัน ถึง 2 สัปดาห์ หลังจากได้รับเชื้อ โดยอาการเริ่มแรกของผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นั้น ส่วนใหญ่จะเริ่มจากการมีไข้ ไอ เจ็บคอ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หายใจหอบเหนื่อย ถ่ายเหลวท้องเสีย หากผู้ป่วยมีร่างกายไม่แข็งแรงหรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ จะทำให้มีความรุนแรงถึงขั้นวิกฤตและเสียชีวิตได้

โดยในเบื้องต้นทุกคนสามารถป้องกันตัวเองและคนรอบข้างให้ห่างไกลจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ดังนี้ค่ะ
เลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไอ จาม น้ำมูกไหล เหนื่อยหอบ เจ็บคอ
เลี่ยงการเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะเมืองอู่ฮั่นที่เป็นรังโรค และเมืองอื่น ๆ ในประเทศจีนที่มีการระบาด
ระวังการสัมผัสพื้นผิวที่ไม่สะอาด และอาจมีเชื้อโรคเกาะอยู่
ควรล้างมือให้สม่ำเสมอด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลอย่างน้อย 20 วินาที
งดจับตา จมูก ปากขณะที่ไม่ได้ล้างมือ
เลี่ยงการใกล้ชิด สัมผัสสัตว์ต่าง ๆ โดยที่ไม่มีการป้องกัน
ทานอาหารสุก สะอาด ไม่ทานอาหารที่ทำจากสัตว์หายาก

———-
ข้อมูลจาก : คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล