สุขภาพดี ด้วยโยคะ

yoga.jpg
ใครที่ไม่เคยฝึกโยคะ อาจจะนึกไม่ออกว่าโยคะ นอกจากจะเป็นการฝึกสมาธิ ให้การผ่อนคลายทางจิตใจได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังช่วยให้กล้ามเนื้อมีความยืดหยุ่น และมีความแข็งแรงจากภายในได้อย่างไม่น่าเชื่อเลยล่ะค่ะ
สำหรับใครที่เริ่มจะสนใจ แต่ยังไม่มีโอกาสได้ไปลงคอร์สฝึกโยคะที่ไหน วันนี้ เรามีท่าบริหารร่างกายในแบบโยคะ สำหรับฝึกในช่วงเช้า และใช้เวลาแค่สั้นๆ มาฝากกัน รับประกันว่าไม่ยากจริงๆ ลองไปดูกันทีละขั้นตอนเลยค่ะ

ท่าที่ 1

นอนเหยียดตัว นำมือสองข้างมาประสานกัน เหยียดปลายเท้าให้สุด พร้อมๆ กับเหยียดมือขึ้นเหนือศีรษะ ค้างไว้ประมาณ 5 ลมหายใจ
จากนั้น งอเข่าทั้งสองข้างเข้าหาตัว นำมือมาประสานกัน กอดเข่าทั้งสองข้าง แล้วขยับซ้าย-ขวา ช้าๆ ประมาณ 5 ครั้ง เพื่อให้ร่างกายได้ยืดคลายก่อนเข้าสู่ท่าฝึกท่าต่อไป

ท่าที่ 2
ยืดขาซ้ายออก ในขณะที่เข่าขวายังคงงออยู่ ใช้มือประสานกันรอบเข่าขวา แล้วหมุนเป็นวงช้าๆ ประมาณ 5 รอบ – ทำซ้ำกับขาซ้ายในลักษณะเดียวกัน

ท่าที่ 3
นอนตัวตรง งอเข่าทั้งสอง แล้วนำขาขวา พาดกับขาซ้าย จากนั้น ใช้มือขวาสอดเข้าระหว่างขาทั้งสอง และนำมือซ้าย อ้อมขาซ้าย ประสานกับมือขวา พร้อมกับหายใจเข้า
จากนั้น ค่อยๆ ผ่อนลมหายใจออก พร้อมๆ กับดึงขาเข้าหาตัว
ค้างไว้ แล้วคลายกลับสู่ท่าเดิมพร้อมกับหายใจเข้า
ทำ 5 รอบ ก่อนสลับไปทำในด้านซ้าย ในลักษณะเดียวกัน

ท่าที่ 4
นอนกางแขนออกทั้งสองข้าง งอเข่าทั้งสองเข้าหาลำตัว บิดขาที่งอ พับไปด้านขวา พร้อมกับหันศีรษะไปในด้านตรงข้าม ค้างไว้ 5 ลมหายใจ ก่อนสลับ พับขาไปด้านซ้าย พร้อมกับหันหน้าในด้านตรงข้าม และค้างไว้ 5 ลมหายใจ

จากนั้น กลับสู่ท่านอนหงาย งอเข่าทั้งสองข้าง กอดเข่าทั้งสองข้าง แล้วโยกตัวเบาๆ ขึ้นมาอยู่ในท่านั่ง

ท่าที่ 5
อยู่ในท่านั่ง – หายใจเข้า พร้อมกับยกมือซ้ายขึ้นจนสุด จากนั้น ผ่อนลมหายใจออก พร้อมกับเอียงตัวไปด้านขวา ให้แขนอยู่ด้านข้างศีรษะ ใช้มือขวาแตะพื้นประคองไว้ เอียงตัวจนรู้สึกตึง แล้วค้างไว้ 5 ลมหายใจ จากนั้น หายใจเข้าพร้อมกับกลับสู่ท่าเริ่มต้น และทำให้ด้านตรงข้ามในลักษณะเดียวกัน

ท่าที่ 6
อยู่ในท่านั่ง – หายใจเข้าพร้อมกับยกมือทั้งสองขึ้นเหนือศีรษะ ผ่อนลมหายใจช้าๆ พร้อมกับหมุนตัวไปด้านขวา ลดมือลง ใช้มือซ้ายแตะที่เข่าขวา และนำมือขวาแตะที่พื้น ค้างไว้ 5 ลมหายใจ ก่อนกลับสู่ท่าเริ่มต้น และทำซ้ำในด้านตรงข้าม

เท่านี้ เป็นอันเรียบร้อย
รับประกันเลยค่ะ ว่าถ้าให้เวลาซัก 5-10 นาที ในช่วงเช้าของแต่ละวัน ฝึกโยคะง่ายๆ ประมาณนี้ ร่างกายก็สดชื่น กระปรี้ กระเปร่า แถมยังช่วยให้จิตใจโปร่ง โล่งสบาย พร้อมที่จะลุยกับงานกองโตที่รออยู่อย่างแน่นอนค่ะ อย่าลืมนำไปฝึกกันนะคะ

โยคะสำหรับว่าที่คุณแม่

yoga.jpg


สำหรับว่าที่คุณแม่ ของขวัญชิ้นแรกที่จะสามารถมอบให้กับลูกน้อยได้ คงหนีไม่พ้นเรื่องของความแข็งแรง สุขภาพ และอารมณ์ของเจ้าตัวเล็ก ที่เป็นผล มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคุณแม่ในระหว่างการตั้งครรภ์โดยตรง

ร่างกายของคุณแม่เมื่อตั้งครรภ์นั้น ส่วนต่างๆ ก็จะเปลี่ยนแปลงไป ทั้งระดับของฮอร์โมน และการเปลี่ยนแปลงของระดับสเตียรอยด์ การเปลี่ยนแปลงนี้ยังรวมถึงขนาดของครรภ์ที่ใหญ่ขึ้นที่ทำให้หลังแอ่นเพื่อรักษาจุดศูนย์ถ่วงของร่างกายไว้ มีผลให้กล้ามเนื้อหลักของร่างกายต้องทำงานหนัก และมีการเกร็งมากขึ้นทั้งเพื่อการรับน้ำหนัก และเพื่อการควบคุมร่างกายให้คงความสมดุลไว้ ดังนั้น นอกเหนือจากเรื่องของการดูแลให้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ ความระมัดระวังในกิจวัตรประจำวัน และเรื่องของโภชนาการแล้ว ว่าที่คุณแม่จึงควรให้ความสำคัญกับเรื่องของการบริหารร่างกาย และการออกกำลังเบาๆ อีกด้วย

วันนี้ นำมาฝากกันค่ะ กับเรื่องของการยืดกล้ามเนื้อ ผ่อนคลายให้เลือดไหลเวียนสะดวก รวมถึงการฝึกลมหายใจ และการฝึกสมาธิด้วยวิถีโยคะ ซึ่งเป็นทางเลือกที่ดีมากๆ สำหรับคุณแม่ทุกท่าน มาดูกันค่ะ ว่าท่าโยคะที่เหมาะกับคุณแม่ตั้งครรภ์ มีอะไรกันบ้าง

1. ท่าฝึกลมหายใจ นั่งสมาธิ

เริ่มต้นด้วยการ นั่งตัวตรง  เอามือวางที่หน้าท้อง ให้สังเกต และมีสมาธิจดจ่อที่การขยับตัว การดิ้นของลูก โดยปกติเด็กจะเริ่มดิ้นเมื่อมีอายุครรภ์ประมาณ  20  สัปดาห์ สำหรับท้องแรก  และประมาณ  16 สัปดาห์ หรือ 4 เดือนในท้องต่อๆ มา วัตถุประสงค์ของการเริ่มต้นเช่นนี้ เพื่อให้เกิดความผ่อนคลาย  มีสมาธิ  และให้ร่างกาย และจิตใจอยู่ในสภาพพร้อมสำหรับการฝึกในท่าต่อไป
ให้อยู่ในท่านี้นานประมาณ 5 นาทีค่ะ

2. ท่าบริหารคอ

วิธีบริหาร ในขณะที่สูดลมหายใจเข้า ให้ตั้งหน้าตรง สูดหายใจให้เต็มปอด ก่อนค่อยๆ ผ่อนลมหายใจออกช้าๆ ขณะเดียวกับที่ค่อยๆ ก้มหน้าลงจนคางชิดอกมากที่สุด  จากนั้น เริ่มหายใจเข้า และเงยหน้าขึ้นอีกครั้ง ทำสลับกันประมาณ 2-3 รอบ จากนั้น สลับ เป็นท่าหัน ซ้าย-ขวา โดย เริ่มต้นด้วยใบหน้าตั้งตรง หายใจเข้าช้าๆ จนเต็มปอด จากนั้น ผ่อนลมหายใจออก พร้อมกับค่อยๆ หันหน้าไปด้านซ้าย จนรู้สึกว่าตึง หายใจเข้าอีกครั้งพร้อมกับหันหน้ากลับมาสู่ท่าเริ่มต้น จากนั้น ผ่อนลมหายใจออกช้าๆ พร้อมกับค่อยๆ หันหน้าไปทางขวา จนรู้สึกตึง หายใจเข้า พร้อมหันหน้ากลับสู่ท่าเริ่มต้นอีกครั้ง ทำสลับกันไปเรื่อยๆ ประมาณ 2-3 รอบ และสลับเป็นท่าเอียงคอ ในลักษณะคล้ายๆ กัน คือเริ่มต้นจากท่านั่งหันหน้าตรง หายใจเข้าพร้อมกับยกมือข้างขวาขึ้นระดับหัวไหล่ จากนั้น ผ่อนลมหายใจออก พร้อมกับนำมืออ้อมศีรษะ กดลงด้านข้างช้าๆ จนรู้สึกตึง แล้วหายใจเข้าช้าๆ ในขณะที่กลับสู่ท่าเริ่มต้น สลับทำทั้งซ้ายและขวา ด้านละ 2-3 ครั้ง ค่ะ

3. ท่าหายใจด้วยท้อง

เริ่มต้นด้วยการหายใจเข้า พร้อมยกมือพนมขึ้นที่เหนือศีรษะ จากนั้นผ่อนลมหายใจออก พร้อมๆ กับค่อยๆ ลดมือลง ท่านี้ ทำประมาณ 3-4 รอบค่ะ

4. ท่าพระจันทร์เสี้ยว

เริ่มต้นด้วยการหายใจเข้า พร้อมๆ กับกางมือออกข้างลำตัวในระดับไหล่ จากนั้น ค่อยๆ ผ่อนลมหายใจออกยกแขนขวาขึ้นเหนือศีรษะ และลดแขนซ้ายลงข้างลำตัว ก่อนจะค่อยๆ เอื้อมมือขวาเหนือศีรษะ ไปทางด้านซ้าย เป็นวงโค้งคล้ายพระจันทร์เสี้ยว หายใจเข้าอีกครั้ง และกลับสู่ท่าเริ่มต้น ทำสลับกันข้างละ 2-3 รอบ

5. ท่าผีเสื้อ

เริ่มต้นด้วยการนั่ง ลำตัวตรง และให้ฝ่าเท้าประกบกันไว้ ใช้มือจับเข่าทั้งสองกดลงแนบกับพื้นเท่าทืทำได้แล้วปล่อย ท่านี้ จะช่วยให้ข้อสะโพกและกระดูกหัวเหน่าขยายออก ช่วยให้คุณแม่คลอดได้ง่ายขึ้น ต่อมา ใช้มือทั้งสองจับปลายเท้าไว้ กดเข่าให้ชิดพื้นมากที่สุด  จากนั้นหายใจเข้าช้าๆ ยืดอกขึ้นให้เต็มที่จนสุด หายใจออกพร้อมกับค่อยๆ ก้มตัวลงให้หน้าผากชิดกับปลายเท้ามากที่สุดที่สามารถทำได้ และค้างไว้ จากนั้นสูดลมหายใจเข้าพร้อมกับเงยหน้าขึ้นสู่ท่าเริ่มต้น ทำซ้ำประมาณ 2-3 ครั้ง จากนั้นให้ฝึกต่อด้วยท่าขมิบก้น โดยให้นั่งในท่าเดิม หายใจเข้าช้าๆ แล้วหายใจออก ในขณะที่ขมิบก้น และช่องคลอดค้างไว้ 5-10 วินาที และผ่อนคลายทำซ้ำ 10-20 ครั้ง และหาก ฝึกเป็นประจำ จะช่วยให้กล้ามเนื้อหูรูดมีความยืดหยุ่นขยายตัวดี ช่วยในระบบขับถ่ายปัสสาวะ ลำไส้เล็ก อุ้งเชิงกราน มดลูก และรังไข่ ทั้งยังกระตุ้นระบบประสาทที่ควบคุมการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ บรรเทาอาการกลั้น ปัสสาวะไม่อยู่อีกด้วยค่ะ

ข้อสำคัญสำหรับการฝึกโยคะในระหว่างตั้งครรภ์ คือควรปรึกษาแพทย์ก่อนทำการฝึก และควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษจากผู้ที่มีความรู้ในระหว่างการฝึกอีกด้วย ทั้งร่างกายของแต่ละคนก็มีความยืดหยุ่น และมีสรีระที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นการฝึกควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป เน้นในเรื่องการฝึกลมหายใจ และการทำสมาธิ ที่สำคัญจะต้องไม่ยืด เหยียด จนร่างกายตึงจนเกินไปค่ะ