ทำอย่างไรดี … อยากมีน้องซักคน

ท้อง.jpg

อาจเป็นเพราะบทบาท หน้าที่การงาน ความเร่งรีบ หรือวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ที่ทำให้การคิดจะมีลูกซักคน ในหลายๆ ครอบครัวที่แต่งงานไปแล้ว กลับกลายเป็นเรื่องยาก
ใครที่ยังไม่เจอกับปัญหานี้อาจจะไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องทุกข์ใจสักเท่าใหร่ แต่สำหรับคนที่อยากเป็นพ่อ-แม่ แล้วยังไม่มีวี่แววว่าจะมีเจ้าตัวน้อยสักที กลับเป็นการรอคอยที่ยาวนานมากๆ เลยล่ะ วันนี้เราเลยมีความรู้ดีๆ มาฝากกันค่ะ

รู้ไหมคะ ว่าปัญหาของการมีบุตรยากนั้น ประมาณ 40% เกิดจากฝ่ายชาย โดยเกิดจากการสร้างเชื้อที่ผิดปกติ ทำให้ไม่มีเชื้อ หรือได้เชื้ออสุจิที่คุณภาพไม่ดี มีจำนวนเชื้อน้อย เคลื่อนไหวน้อย หรือมีรูปร่างผิดปกติมาก วันนี้เราจึงขอเริ่มต้นที่การแก้ปัญหาในส่วนของฝ่ายชายกันก่อน การตรวจเชื้ออสุจิ เป็นวิธีหลักในการตรวจ ที่ใช้ในการวินิจฉัยภาวะมีบุตรยากในฝ่ายชาย องค์การอนามัยโลกได้กำหนดค่ามาตรฐานของอสุจิปกติเอาไว้ คือ ในการหลั่งอสุจิออกมาแต่ละครั้งจะต้องมีปริมาตรระหว่าง 2-6 มิลลิลิตร และมีฤทธิ์เป็นด่าง มีค่า pH ปกติอยู่ระหว่าง 7.2 – 8.5 และความเข้มข้นของตัวอสุจิในน้ำอสุจิควรจะมีมากกว่า 20 ล้านตัว / 1 มิลลิลิตร หากมีความเข้มข้นต่ำกว่านี้แล้ว จะพบว่าอัตราการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติก็จะมีแนวโน้มที่จะลดลงด้วย ความก้าวหน้าทางการแพทย์ในปัจจุบัน สามารถช่วยให้ฝ่ายชายที่เป็นหมัน คือไม่มีตัวอสุจิในน้ำอสุจิ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจาก การอุดตันของท่อนำอสุจิ หรือการไม่มีท่อนำอสุจิมาตั้งแต่กำเนิด มีปัญหาในเรื่องของการหลั่ง ตัวอสุจิที่หลั่งออกมาตายหมด หรือมีการอักเสบของอัณฑะเนื่องจากเชื้อไวรัสคางทูม หรือเชื้ออื่นๆ ให้สามารถมีบุตรของตนเองได้ โดยการนำเอาตัวอสุจิออกมาใช้ในขบวนการอิ๊คซี่ ด้วยวิธีการต่อไปนี้ค่ะ
– พีซ่า (PESA = Percutaneous Epididymal Sperm Aspiration) คือ การใช้เข็ม แทงผ่านผิวหนังบริเวณอัณฑะเข้าไปในท่อพักน้ำเชื้อ แล้วดูดตัวอสุจิออกมา
– มีซ่า (MESA = Microsurgical Epiddymal Sperm Aspiration) คือ การผ่าตัดเข้าไปหาท่อพักน้ำเชื้อส่วน epididymis แล้วจึงใช้เข็มแทงเข้าไป และดูดตัวอสุจิออกมา
– ทีซ่า (TESA = Testicula Sperm Aspiration) คือ การใช้เข็มแทงผ่านผิวหนังบริเวณอัณฑะเข้าไปในลูกอัณฑะ แล้วดูดตัวอสุจิออกมา
– ทีซี่ (TESE = Testicular biopsy Sperm Extraction) คือ การผ่าตัดเอาเนื้ออัณฑะออกบางส่วน แล้วแยกตัวอสุจิที่ค้างอยู่ในเนื้ออัณฑะออกมา ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาเรื่องการมีบุตรยากที่เกิดจากฝ่ายชายค่ะ

สำหรับอีกทางเลือก สำหรับผู้มีบุตรยาก ก็คือการปฏิสนธินอกร่างกาย (In vitro fertilization) ซึ่งก็คือการนำไข่และอสุจิมาผสมให้เกิดการปฏิสนธิกลายเป็นตัวอ่อนในห้องทดลอง หลังจากนั้นจึงนำตัวอ่อนที่เกิดขึ้นใส่กลับเข้าโพรงมดลูกของฝ่ายหญิง เพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์
หลักการของการปฏิสนธินอกร่างกาย คือ การกระตุ้นไข่ในฝ่ายหญิง จากนั้นก็ต้องติดตามการเจริญเติบโตของไข่ และเก็บไข่ หลังจากนั้นนำไข่มาผสมกับเชื้ออสุจิในห้องทดลอง เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิ โดยต้องควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณก๊าซต่างๆ ในบรรยากาศให้เหมาะสม และใช้น้ำยาเลี้ยงตัวอ่อนที่เตรียมไว้เป็นพิเศษ ประมาณ 16-18 ชั่วโมงหลังการปฏิสนธิ จะเริ่มเกิดการแบ่งตัวเป็นตัวอ่อน และหลังจากนั้นอีก 24 ชั่วโมง จะมีการแบ่งตัวเป็นตัวอ่อนระยะ 2-4 เซลล์ และเป็นตัวอ่อนระยะ 8-12 เซลล์ ในอีก 24 ชั่วโมงต่อมา โดยจะทำการเลี้ยงตัวอ่อนต่ออีกประมาณ 3-5วัน จึงจะทำการย้ายตัวอ่อนกลับเข้าสู่โพรงมดลูก เพื่อให้มีการฝังตัวและเจริญเติบโตต่อไป
โดยปกติแล้ว ตัวอ่อนจะถูกใส่กลับจำนวน 2-3 ตัว ถ้ามีเหลืออยู่อีก และเป็นตัวอ่อนที่แข็งแรง ก็จะทำการแช่แข็งเก็บไว้ ให้ตัวอ่อนที่แช่แข็งสามารถนำมาใส่กลับได้อีกในรอบต่อไปของการรักษา

แล้วกรณีไหนบ้างที่เหมาะกับการทำการปฏิสนธินอกร่างกาย คุณหมอได้ให้ความรู้มาค่ะ ว่าผู้ที่เหมาะกับการทำการทำการปฏิสนธินอกร่างกาย ได้แก่
1. ฝ่ายหญิงมีความผิดปกติของท่อนำไข่ตีบหรือตันทั้งสองข้าง
2.ฝ่ายหญิงมีพังผืดในอุ้งเชิงกรานมาก และรักษาด้วยการผ่าตัดแล้วไม่ได้ผล
3.ฝ่ายหญิงมีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ และรักษาภาวะนี้แล้วด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล
4.เชื้ออสุจิฝ่ายชายคุณภาพไม่ดี ซึ่งรักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล
5.ภาวะมีบุตรยากที่ไม่ทราบสาเหตุ

และเป็นธรรมดาค่ะ ใครที่หวังจะมีบุตร และถึงขนาดมาปรึกษาคุณหมอกัน ก็ย่อมตั้งความหวังไว้แล้วล่ะค่ะว่าจะได้เห็นหน้าลูกน้อยในเร็ววัน สำหรับอัตราความสำเร็จของวิธีดังกล่าวนั้น อยู่ที่ประมาณ 40-50% ค่ะ ทั้งนี้ขึ้นกับอายุของฝ่ายหญิงด้วย
รู้อย่างนี้แล้ว น่าจะช่วยเพิ่มความหวังให้กับผู้ที่อยากจะมีน้อง แต่รู้สึกว่าตัวเองอาจจะอยู่ในภาวะการมีบุตรยากให้ได้สบายใจมากขึ้นนะคะ เรื่องการมีบุตรยากเป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อน และเฉพาะตัว ผู้ที่อยากได้คำปรึกษาเพิ่มเติม แนะนำให้ติดต่อเพื่อขอเข้าไปปรึกษากับคุณหมอโดยตรงจะดีที่สุดค่ะ ^^

ผักสดๆ กับเรื่องควรระวัง

veg.jpg
คนรักสุขภาพอย่างเราๆ ถ้าเลือกได้คงเลือกที่จะทานผัก ผลไม้ มากกว่าอาหารประเภทเนื้อสัตว์ แป้ง หรืออาหารมันๆ กันเป็นแน่ ก็ผักใบเขียวทั้งหลาย นอกจากจะมีไฟเบอร์สูง ไม่ทำให้อ้วนแล้ว ยังอุดมไปด้วยแร่ธาตุ และวิตามินอีกมากมายเลย วันนี้ เราจึงมีเรื่องราวสั้นๆ เกี่ยวกับผักสดมาฝากกันค่ะ
จริงอยู่ ที่ผักสดๆ ย่อมคงคุณค่าทางอาหารไว้ได้ครบถ้วน ให้ประโยชน์มากกว่าผักที่ผ่านการะบวนการปรุงด้วยความร้อนสูง ทำให้เรามักจะเลือกทานผักสดๆ กันเมื่อมีโอกาส แต่ทราบกันหรือไม่คะ ว่าการทานผักบางชนิด โดยไม่ผ่านการปรุงด้วยความร้อน และทานในปริมาณมากๆ กลับจะส่งผลเสียให้กับร่างกายเราได้ มาดูกันดีกว่าค่ะว่ามีอะไรบ้าง

ถั่วงอก แม้ว่าถั่วงอกจะมีคุณค่าทางอาหารสูง ทั้งมีโปรตีน วิตามินซี วิตามินบี 12 ธาตุเหล็ก และ เลซิธิน แต่การทานถั่วงอกดิบก็ควรจะทานในปริมาณที่พอเหมาะเท่านั้น เพราะในถั่วงอกดิบมีสารไฟเตต ที่จะส่งผลในการขัดขวางการดูดซึมสารบางชนิดเข้าสู่ร่างกาย
ไฟเตต มีลักษณะคล้ายฟองน้ำ ซึ่งจะไปจับ หรือดูดซับธาตุแคลเซียม เหล็ก สังกะสี และฟอสฟอรัส เมื่อรับประทานเข้าไปมาก ๆ ร่างกายจะไม่สามารถดูดซึมแร่ธาตุเหล่านี้ได้ค่ะ สารไฟเตตนี้ นอกจากจะพบในถั่วงอกแล้ว ยังพบได้ในผักใบเขียว เช่น ผักคะน้า ขี้เหล็ก ผักโขม ซึ่งกลิ่นเหม็นเขียวที่เราพบในผักนั่นแหละค่ะ คือ กลิ่นของไฟเตต โดยวิธีทานผักเหล่านี้ให้ประโยชน์เต็มที่ ก็สามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการปรุงให้สุกค่ะ เพราะเมื่อโดนความร้อน สารไฟเตตก็จะสลายไป ไม่ต้องกังวลว่าร่างกายจะไม่สามารถดูดซับสารอาหารได้เต็มที่อีก

ถั่วฝักยาว แม้ว่าในถั่วฝักยาวจะมีไฟเบอร์สูง มีแคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินซี โปรตีน และมีธาตุเหล็ก แต่การทานถั่วฝักยาวดิบมากจนเกินไป ก็อาจทำให้ท้องอืดได้ เพราะในถั่วฝักยาวดิบจะมีก๊าซสูง โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ซึ่งอาการท้องอืดดังกล่าว เกิดจากกระบวนการย่อยเมล็ดและเปลือกของถั่วฝักยาวโดยแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ค่ะ

ผักตระกูลกะหล่ำ และตระกูลหอม ซึ่งรวมถึง กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บร็อกโคลี คะน้า หัวหอม กระเทียม ผักในกลุ่มนี้จะมีสารกอยโตรเจน (goitrogen) เป็นสารมีฤทธิ์ในการยับยั้งการสร้างฮอร์โมนในต่อมไทรอยด์ทำให้ร่างกายนำไอโอดีนในเลือดไปใช้ได้น้อยกว่าปกติ หากรับประทานผักผลไม้ที่มีสารชนิดนี้มากเกินไปอาจจะทำให้มีอาการท้องอืด และทำให้ร่างกายได้ขาดสารไอโอดีนจนทำให้เป็นโรคคอพอกได้ในระยะยาว อย่างไรก็ตาม สารกอยโตรเจนนี้ จะสลายตัวอย่างรวดเร็วเมื่อโดนความร้อน การทานผักในกลุ่มนี้ จึงควรปรุงให้สุกก่อนค่ะ

หน่อไม้-มันสำปะหลัง จะมีสารไซยาไนด์ ในรูปของ ไกลโคไซด์ ซึ่งจะมีผลต่อระบบประสาท ทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย มึนงง หมดสติ หรืออาจรุนแรงถึงขั้นหัวใจหยุดทำงานได้เลยทีเดียว การทาหน่อไม้ หรือมันสำปะหลัง ควรจะนำไปปรุงสุก หรือนำไปต้มน้ำทิ้งก่อนนำมาปรุงอาหารต่อไป

ที่กล่าวมาทั้งหมด ไม่ได้หมายความว่าผักเหล่านี้ไม่ควรทานนะคะ เพียงแต่ว่า การทานในปริมาณมากๆ อาจะเป็นผลเสียต่อสุขภาพของเราได้ แต่วิธีแก้ไขก็ทำได้ไม่ยากเลย เพียงนำไปปรุงให้สุกก่อน เพียงเท่านี้ เราก็ยังจะได้รับทั้งไฟเบอร์ สารอาหาร และวิตามินที่มีอยู่โดยไม่ต้องกังวลกับเรื่องสารหลายๆ ชนิดที่มีในผักสดกันแล้วค่ะ
เอาล่ะค่ะ ใกล้ถึงเวลาอาหารกันแล้ว เลือกผักอร่อยๆ สำหรับเมนูมื้อต่อไปกันหรือยังคะ