ขยับซักนิด พิชิต Office Syndrome

work


หลังจากที่เราได้นำเนื้อหาเกี่ยวกับ Office Syndrome มาฝากกันไปแล้ว
วันนี้ มาต่อกันอีกซักหน่อย กับท่าบริหาร การขยับร่างกายง่ายๆ เพื่อป้องกันอาการของโรค Office Syndrome ค่ะ

ท่าที่ 1 แก้อาการหายใจไม่อิ่ม หายใจได้ไม่สุด
ร่างกายของเราต้องการอากาศบริสุทธิ์ในการหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายโดยเฉพาะสมอง การบริหารปอดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การขยายตัวของปอดดีขึ้น ออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายได้ดีขึ้น ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อด้านข้างลำตัว ยืดกล้ามเนื้อหัวไหล่ และป้องกันโรคไหล่ติด
วิธีการออกกำลังกาย
1 นั่งเก้าอี้ที่มีพนักพิง เลื่อนก้นให้ชิดพนัก
2 แขนซ้ายเหยียด-ยืดแขนให้สุดด้านเหนือศีรษะ แขม่วท้อง หายใจโดยใช้ชายโครงกางออก
3 มือขวาเอื้อมมาจับขอบด้านซ้ายของเบาะที่นั่งเก้าอี้
4 ในขณะที่ทำให้เกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้องไว้ตลอดเพื่อไม่ให้หลังแอ่น
5 หายใจเข้าลึก หายใจออกเป่าลมออกทางปากเบาๆ พร้อมๆ กับเอียงตัวด้านขวา และหมุนตัวมาด้านซ้ายเล็กน้อยจนรู้สึกตึงมากที่สุด
6 หายใจเข้าทางจมูก เป่าลมออกทางปากเบาๆ หนึ่งรอบ แล้วค่อยดึงตัวกลับ
7 สลับกันทั้งสองข้าง ทำซ้ำ 5 ครั้ง วันละ 3 รอบ

ท่าที่ 2 ยืดกล้ามเนื้อสะโพกมัดลึก
กล้ามเนื้อที่เป็นทางผ่านของเส้นประสาท การยืดกล้ามเนื้อที่ไปเลี้ยงขาจะช่วยแก้อาการของคนที่ปวดก้นและร้าวลงขาได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นยังช่วยบรรเทาอาการของผู้มีอาการปวดหลังอันเนื่องมาจากหมอนรองกระดูกแคบซึ่งมักมีอาการปวดร้าวลงขา ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงขาทำให้สบายตลอดทั้งขา
วิธีการออกกำลังกาย
1 นั่งกับพื้น งอเข่าด้านซ้ายเข้าหาตัว และเปิดฝ่าเท้าขึ้น ยกขาซ้ายทับขาขวา โดยอ้อมฝ่าเท้าไปที่ด้านข้างของสะโพกด้านขวา
2 งอเข่าด้านขวาเข้าหาตัว หงายฝ่าเท้าขึ้น อ้อมไปด้านข้างของสะโพกซ้าย
3 โน้มลำตัวลงไปด้านหน้า เหยียดแขนให้สุดจนรู้สึกตึงมากที่สุดโดยไม่เจ็บ ขณะที่ยืดลำตัวให้แขม่วท้องค้างไว้
4 หายใจเข้าลึกๆทางจมูก เป่าลมออกทางปากเบาๆ พร้อมกับยืดอก และแอ่นหลังขึ้น ในขณะที่มือวางแนบพื้นอยู่ที่เดิม
5 หายใจเข้าลึกๆ ทางจมูกและเป่าลมออกเบาๆ ทางปาก 2 ลมหายใจ แล้วค่อยดันตัวขึ้นท่านั่งหลังตรง ทำ 5 ครั้ง แล้วสลับข้าง

ท่าที่ 3 ยืดกล้ามเนื้อหลังต้นขา
การนั่งอยู่กับที่นานๆ อาจจะทำให้เกิดอาการเมื่อยล้า หากเป็นหนักขึ้นก็อาจจะมีอาการปวดร้าวลงขาได้ การออกกำลังกายในแบบการยืดกล้ามเนื้อจะช่วยคลายเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อ และเส้นประสาทของขาตลอดทั้งแนว สร้างกำลังกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า ช่วยพยุงข้อเข่า ป้องกันอาการเข่าเสื่อมได้
วิธีการออกกำลังกาย
1 นั่งกับพื้น ขาซ้ายเหยียดเข่าตรงไปด้านหน้า ขาขวางอเข้าหาตัว ฝ่าเท้าขวาวางประคบไว้ที่ต้นขาด้านในของข้างซ้าย
2 งอเข่าด้านซ้ายขึ้นเล็กน้อย ร่วมกับกระดกฝ่าเท้าเข้าหาตัว ปลายนิ้วเท้าชี้ขึ้นด้านบน
3 โน้มตัวไปด้านหน้าจนรู้สึกตึงมาก พร้อมกับเหยียดแขนให้สุด วางฝ่ามือแนบกับพื้น
4 แอ่นหลังขึ้นให้รู้สึกตึง ในขณะที่ฝ่ามือวางตำแหน่งเดิม ลงน้ำหนักที่ก้นสองข้างเท่ากัน
5 หายใจเข้า เป่าลมออกทางปากเบาๆ พร้อมกับเหยียดเข่าออกให้รู้สึกตึงมาก แต่ไม่เจ็บ ในขณะที่ยังคงแอ่นหลัง และกระดกฝ่าเท้าอยู่
6 ค้างไว้ 2 ลมหายใจ และค่อยๆ ดึงตัวกลับในท่านั้งตรง และปล่อยขาให้สบาย
7 ทำข้างละ 5 ครั้ง แล้วสลับข้าง ทำวันละ 3 รอบ

ท่าที่ 4 สร้างความมั่นคงให้กระดูกสันหลังรอบด้าน สร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน และต้นขาด้านใน
บุคลิกภาพในการยืน เดิน หรือนั่งแบบหลังแอ่นๆ นั่นอาจทำให้เกิดอาการปวดตามมาในอีกหลายๆ ส่วน การออกกำลังกายในท่านี้จึงช่วยปรับให้หลังที่แอ่นนั้นกลับคืนมาในแนวโค้งปกติ นอกจากนั้นยังช่วยกระชับกล้ามเนื้อหูรูด กระชับกล้ามเนื้อต้นขาด้านใน ทำให้ขาเล็กเรียวได้รูปสวย และเป็นท่าที่สร้างความมั่นคงให้กระดูกสันหลัง ป้องกันอาการปวดหลัง ทำให้หน้าท้องกระชับ
วิธีการออกกำลังกาย
1 นอนหงาย เหยียดขาตรงทั้งสองข้าง ดันลำตัวขึ้น ตั้งศอกเพื่อพยุงลำตัวไว้
2 เก็บคางและดันศีรษะลงเล็กน้อย แขม่วท้องและเกร็งกล้ามเนื้อก้นค้างไว้
3 กระดกปลายเท้าซ้ายขึ้น พร้อมกับลอยขาซ้ายขึ้นตรงๆ ทั้งแนว
4 หันปลายนิ้วเท้าออกด้านข้างพร้อม กางขาออกประมาณ 45 องศา (ในขณะที่แขม่วท้องและเกร็งกล้ามเนื้อก้นอยู่ สะโพกนิ่งอยู่กับที่)
5 แล้ววาดเท้าเป็นครึ่งวงกลม ดึงกลับที่เดิมโดยที่เท้าไม่แตะพื้น กางขาออกทำซ้ำ อย่างช้า ๆ ข้างละ 5 รอบ ทำวันละ 3 ครั้ง

4 ท่าบริหาร ที่แนะนำให้ทำเป็นประจำทุกๆ วัน ให้เวลาซักหน่อยกับการดูแลสุขภาพ จะได้มั่นใจ ว่าอยู่ไกลจาก Office Syndrome ค่ะ ^^

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s