สวยใสสมวัยได้ง่ายๆ แค่ดูแลผิวให้ถูกวิธี

ผิวสวยๆ เป็นสิ่งที่คุณสาวๆ ต่างถวิลหา ผิวเต่งตึง เนียนละเอียด ปราศจากจุดด่างดำและริ้วรอยแห่งวัยที่มากวนใจให้อารมณ์ขุ่นมัว ทว่า ด้วยอายุที่เพิ่มขึ้น การทำงานของระบบต่างๆ และฮอร์โมนในร่างกายก็เปลี่ยนไป คุณสาวๆ อย่าเพิ่งกลุ้มใจไป เพราะวันนี้มีคำแนะนำดีๆ สำหรับสาวๆ ทุกคนให้ได้สวยใส ตลอดทุกช่วงวัยมาฝากกันค่ะ

20s (อายุ 20 – 29 ปี) “กรี๊ด สิวขึ้น…”
นักศึกษาและน้องๆจบใหม่ไฟแรง ถึงจะเลยวัยทีนมาแล้ว แต่ผิวก็ยังคงมีการผลิตน้ำมัน (Sebum) อยู่ กับไลฟ์สไตล์ที่ต้องอดนอนอ่านหนังสือบ้าง เจอฝุ่นควันบ้าง ปัญหาสำคัญสำหรับสาวๆ ในวัยนี้คงหนีไม่พ้นเรื่อง “สิว” ค่ะ แม้ว่าผิวเราจะมีการผลัดเปลี่ยนเซลล์ผิวและสร้างเซลล์ผิวใหม่อย่างสม่ำเสมอทุกๆ 28 วัน แต่พอเข้าสู่ช่งวัยยี่สิบปลายๆ วัยทำงาน ความเครียดอาจถามหา ถ้าเครียดมากริ้วรอยเล็กๆ ก็ถามหาได้ มาดูวิธีดูแลผิวสำหรับช่วงวัยในเลข 2 กันดีกว่าค่ะ

วิธีดูแลผิววัย 20 Up :
จะไปมหาวิทยาลัย หรือไปทำงาน สาวๆ วัยนี้ก็เริ่มแต่งหน้าและใช้เครื่องสำอางกันบ้างแล้ว การทำความสะอาดผิวหน้าจึงเป็นเรื่องสำคัญค่ะ ควรใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดหน้าที่มีเนื้อเป็นน้ำมันในการขจัดสิ่งสกปรก สำหรับสาวคนไหนที่เป็นสิวอักเสบบ่อยๆ ควรใช้เจลล้างหน้าที่มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียด้วยนะคะ จะได้สะอาดแบบไร้เชื้อค่ะ
แถมให้สำหรับการถนอมรักษาผิวพรรณบริเวณรอบดวงตา ซึ่งเป็นผิวส่วนที่บอบบางที่สุดบนใบหน้า วัย 20 กว่าๆ ก็ต้องดูแลผิวรอบดวงตากันแล้วนะคะ ลองหาครีมทารอบดวงตาแบบที่มีเนื้อซิลิโคนเพื่อเคลือบผิวไว้เป็นเกราะป้องกันริ้วรอยไว้ตั้งแต่เนินๆ เลยค่ะ
ความชุ่มชื้นเป็นหัวใจสำคัญในการที่จะทำให้ผิวเต่งตึง แม้ว่าผิวในวัย 20 กว่าๆ จะผลิตน้ำมันออกมามาก แต่การทามอยส์เจอไรเซอร์เพื่อให้ผิวชุ่มชื้นก็เป็นสิ่งสำคัญ และทุกครั้งที่ออกจากบ้าน สิ่งที่ผิวเราต้องเจอก็คือรังสียูวี แนะนำให้เลือกใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดที่มีค่า SPF 15 เป็นอย่างน้อยทุกวัน เพื่อปกป้องผิวจากแสงแดด ทั้งยังช่วยป้องกันการเกิดฝ้า และจุดด่างดำ

30s (อายุ 30 – 39 ปี) “อ๊ายยยย ตีนกามาได้ไงเนี่ย… ยอมไม่ได้”
ขึ้นเลข 3 แล้ว สาวๆ อาจจะตกใจถึงช่วงเวลาที่ผ่านไปอย่างรวดเร็วแบบน่าใจหาย ผิวในช่วงวัยนี้จะเริ่มผลัดเปลี่ยนเซลล์ผิวช้าลง จึงต้องมีตัวช่วยในการเร่งสร้างเซลล์ผิวใหม่ด้วยการขจัดเซลล์ผิวเก่าที่เสื่อมสภาพ และป้องกันริ้วรอยที่เริ่มมาเยือนจากความเครียดในหน้าที่การงาน และความรับผิดชอบที่มากขึ้น ยิ่งถ้าโดนแดด ฝ้าและจุดด่างดำก็มักจะออกมาแสดงตัวได้ง่ายๆ บางครั้ง เครียดหนัก หรือนอนน้อย “สิว” ก็ยังจะถามหาได้อีก แต่ดูแลผิวสำหรับวัยนี้ไม่ยากค่ะ มาดูกันเลย

วิธีดูแลผิววัย 30 Up
อย่างแรกคือเรื่องความสะอาด สาวๆ ควรเลือกผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่เป็นเนื้อครีมนะคะ เพราะผิววัยนี้ผลิตน้ำมันได้น้อยลงแล้ว และจากการผลัดผิวที่ช้าลง จะทำให้สาวๆ ต้องเร่งการผลัดเปลี่ยนเซลล์ผิวและเพิ่มความกระจ่างใส ด้วยการสครับเป็นประจำ อย่างน้อย 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ เพื่อขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว และกระตุ้นการสร้างเซลล์ผิวใหม่
วัยนี้การใช้ Toner เริ่มเป็นสิ่งจำเป็น เพราะโทนเนอร์จะช่วยปรับสภาพผิวให้ความชุ่มชื้น รวมทั้งมีวิตามินที่ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ และ เมื่อริ้วรอยเริ่มถามหา ก็ต้องรีบสยบทุกปัญหารอบดวงตาด้วยวิตามินจำพวกมัลติวิตามิน ที่มีคุณสมบัติ ดูแลครอบคลุมทั้งริ้วรอยและความหมองคล้ำรอบดวงตา และทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน อย่าลืมทาครีมกันแดด ที่มีค่า SPF 30 เป็นประจำทุกวันด้วยค่ะ

40s (อายุ 40 – 49 ปี) “สวยๆ เริ่ดๆ ในแบบที่ฉันป็นฉันเอง”
ก้าวเข้าสู่วัยเลข 4 แล้ว สาวๆ ทำความรู้จักกับผิวของตัวเองมานานพอดู แต่สิ่งที่ไม่รู้และกำลังเปลี่ยนแปลงอยู่ภายใน นั่นคือเรื่อง “ฮอร์โมน” การผลิตฮอร์โมนที่น้อยลงจะทำให้ผิวแห้ง ขาดความยืดหยุ่น และแพ้ง่าย บางครั้งผิวอาจเกิดผื่นแดงจากการแพ้ เป็นเพราะร่างกายผลิตคอลลาเจนน้อยลง ริ้วรอยเริ่มลึก มีจุดด่างดำ ทั้งสีผิวที่ไม่สม่ำเสมอก็เริ่มปรากฎชัดเจนขึ้น จากการผลัดเปลี่ยนเซลล์ผิวที่ช้าลง

วิธีดูแลผิววัย 40 Up
ตื่นเช้ามา เริ่มต้นด้วยการล้างหน้า เลือกผลิตภัณฑ์ที่ช่วยทำความสะอาดและขจัดเซลล์ผิวที่เสื่อมสภาพนะคะ สำหรับตอนเย็น ก็ทำความสะอาดผิวด้วยผลิตภัณฑ์ที่เป็นเนื้อครีม เพื่อให้ผิวชุ่มชื้นค่ะ ลบเลือนริ้วรอย ขจัดความแห้งกร้าน และอาการแพ้ไวของผิว ด้วยครีมบำรุงผิวเนื้อครีมข้น และใช้ผลิตภัณฑ์กันแดด SPF 30 หรือมากกว่า เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของโปรตีน เปปไทด์ เพื่อกระตุ้นการเสริมสร้างคอลลาเจน และเลือกผลิตภัณฑ์บำรุงผิวรอบดวงตา ที่ช่วยขจัดและลดเลือนริ้วรอย รอยบวม ขอบตาคล้ำดำ และควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดเลือนริ้วรอยควบคู่ไปกับการทำทรีตเมนท์ด้วยค่ะ

50s (อายุ 50 – 59 ปี) “งามสมวัย”

ช่วงอายุนี้ผิวจะแห้งลงอย่างเห็นได้ชัด ทิ้งร่องรอยของวัยไว้หลายจุด ขนาดของรูขุมขนจะขยายจนเห็นได้ และจุดด่างดำก็เกิดขึ้นได้ง่ายอีกด้วย ยิ่ไปกว่านั้น การเข้าสู่ช่วงภาวะหมดประจำเดือน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนจะยิ่งทำให้ผิวแห้งและแพ้ได้ง่ายยิ่งขึ้นไปอีก

วีธีดูแลผิวของสาว 50 Up
เริ่มต้นด้วยการเติมน้ำมันให้แก่ผิวอย่างสม่ำเสมอด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีเนื้อครีม และเติมความชุ่มชื้นด้วยครีมบำรุงผิวในคราวเดียวกัน เลือกบำรุงผิวด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีเนื้อครีมข้น และมีส่วนผสมของ วิตามินอี เพื่อปกป้องผิวและเพิ่มความนุ่มเนียน มีโพลีเปปไทด์เพื่อกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน และมีเรตินอลเพื่อช่วยลบริ้วรอยแห่งวัย นอกจากนั้นควรทำทรีตเมนต์ กระตุ้นการขจัดเซลล์ผิวเก่า และเร่งการสร้างเซลล์ผิวใหม่ เป็นการช่วยบำรุงผิวพรรณ และลดริ้วรอยที่เกิดขึ้นตามวัยให้ผิวแลดูเปล่งปลั่งสดใส

แต่ละช่วงวัยมีความสวยในแบบเฉพาะของตนเอง ค้นหาให้เจอ เพื่อเปล่งประกายความงามจากภายในออกมาอวดกันนะคะ

รู้ไว้ ก่อนไปฉีดฟิลเลอร์

filler2
สาวๆ ส่วนใหญ่ ยังเข้าใจเรื่องฟิลเลอร์กันแบบผิวเผิน หรือบางคนแทบไม่รู้เลยว่าฟิลเลอร์กับโบทอกซ์ต่างกันอย่างไร หรือบางคนก็คิดว่าฟิลเลอร์ฉีดที่ไหนก็ได้ และไปฉีดกับคนที่ไม่ใช่แพทย์ เช่น หมอกระเป๋าทั้งหลาย หรือบุคคลากรอื่นที่เคยทำงานร่วมกับแพทย์ก็ได้ เพราะราคาถูกกว่า จึงมักจะทำให้เกิดปัญหา หรือมีผลข้างเคียงมากมายตามที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ
ก่อนตัดสินใจเลือกฉีดฟิลเลอร์ วันนี้มาทำความรู้จักกับฟิลเลอร์กันซักหน่อยดีกว่าค่ะ

💉 การฉีดฟิลเลอร์แตกต่างจากการฉีดโบทอกซ์อย่างไร

จริงๆ แล้วฟิลเลอร์ (Fillers) แปลว่าสารเติมเต็ม ความหมายก็ตามนั้นค่ะ คือการฉีดสารให้เต็มในส่วนที่พร่องไป พูดง่ายๆ การฉีดฟิลเลอร์คือการฉีดสารเข้าสู่ร่างกาย เพื่อจะลดปัญหาจากเนื้อหรือคอลลาเจนตามธรรมชาติของร่างกายที่ลดลง ( Volumn loss ) ซึ่งมักจะเกิดเมื่อเรามีอายุมากขึ้น หรือในบางกรณีสำหรับบางคนที่มีปัญหา อยากเพิ่ม อยากเติมบางจุดให้ดูอวบอิ่มขึ้นจากของเดิมที่ไม่มี เช่นการฉีดฟิลเลอร์เติมร่องแก้มที่ลึก การฉีดฟิลเลอร์ร่องตาที่ลึก การฉีดฟิลเลอร์เสริมดั้งจมูก การฉีดฟิลเลอร์ให้ริมฝีปากอวบอิ่ม การฉีดฟิลเลอร์เสริมคาง ซึ่งความลึกตื้นในการฉีดส่วนใหญ่จะฉีดในชั้นหนังแท้ (Dermis) เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งอยู่เหนือชั้นไขมัน และกล้ามเนื้อ จึงแตกต่างจากโบทอกซ์ ตรงที่โบทอกซ์จะฉีดในชั้นกล้ามเนื้อ เพื่อลดการทำงานของกล้ามเนื้อที่เราไม่ต้องการ เช่น ลดริ้วรอยจากการขยับของตีนกาเวลายิ้ม รอยย่นบนหน้าผาก รอยย่นเวลาขมวดคิ้ว หรือฉีดให้หน้าเรียวเล็กสำหรับผู้ที่มีกรามใหญ่

👨👩👧👦 ฟิลเลอร์สามารถฉีดได้กับทุกคนหรือไม่

ฟิลเลอร์ไม่สามารถจะฉีดได้กับทุกคนค่ะ สตรีมีครรภ์ ผู้ที่ให้นมบุตร ผู้ที่มีปัญหาเลือดออกแล้วหยุดยาก มีแผลฟกช้ำง่าย ควรเลี่ยงการฉีดฟิลเลอร์ค่ะ ที่สำคัญผู้ที่แพ้สารไฮยา ฉีดไ่ม่ได้เด็ดขาด ส่วนอีกกลุ่มคือกลุ่มที่มีความหย่อนคล้อยมากๆ มีผิวหน้าบาง พวกนี้ต้องระวัง และเลือกชนิดฟิลเลอร์ที่ละเอียด เพราะเสี่ยงต่อการที่ฟิลเลอร์เกาะตัวเป็นก้อน ดูไม่เป็นธรรมชาติได้ และสุดท้ายผู้ที่ที่เป็นเริม หรืองูสวัดอยู่ การฉีดฟิลเลอร์อาจจะทำให้อาการกำเริบมากขึ้นได้ แต่ในกรณีที่เคยเป็นและหายแล้ว ฉีดได้ไม่มีปัญหาค่ะ

สำหรับข้อควรระวัง และผลข้างเคียงจากการฉีดสารเติมเต็ม พอจะสรุปได้ตามนี้เลยค่ะ

1. ฉีดไม่ถูกตำแหน่ง เช่นฉีดตื้นหรือลึกเกินไป ทำให้ไม่ได้ผล

2. ถ้าเกิดฉีดฟิลเลอร์เติมร่องใต้ตา แล้วเกิดไปอุดตันทางเดินน้ำเหลือง จะทำให้ตาดูบวมๆคล้ายถุงใต้ตา

3. เป็นก้อนๆหรือตะปุ่มตะป่ำ อันนี้พบได้บ่อย โดยเฉพาะบริเวณร่องแก้มหรือใต้ตาที่ฉีดตื้นเกินไป

4. บริเวณที่ฉีดมีเส้นเลือดฝอยแดงเกิดขึ้น เป็นผลจากอนุภาคสารเติมเต็มไปอุดตันเส้นเลือดฝอยในจุดนั้น มักพบได้บ่อยในกรณีที่ต้องการฉีดเสริมปลายจมูก

5. เนื้อเยื่อข้างเคียงตาย จากการที่อนุภาคของสารเติมเต็มไปอุดตันเส้นเลือดขนาดกลาง พบได้บริเวณข้างและปีกจมูกจากการเติมร่องแก้มหรือการฉีดเสริมจมูก

6. เกิดการอักเสบติดเชื้อ พบได้บ่อยมากขึ้นในกรณีที่ฉีดเติมปลายจมูกให้ยาวขึ้นหรือเพื่อเป็นหยดน้ำใน จมูกที่มีแท่งซิลิโคนอยู่แล้ว กรณีนี้ต้องถอดแท่งซิิลิโคนออกเท่านั้นจึงจะดีขึ้น

7. จมูกโตขึ้นเรื่อยๆ มักพบในคนที่ฉีดสารเติมเต็มหลายๆครั้ง

8. ตาบอด อันนี้สาหัสสุด มักเกิดจากการฉีดเสริมจมูกอย่างผิดวิธีทำให้อนุภาคของสารเติมเต็มหลุดเข้าไป อุดตันเส้นเลือดที่ดวงตา ซึ่งเราคงเคยได้ข่าวมาบ้างแล้วในเมืองไทย

⛔️ข้อห้าม และการปฏิบัติตัวหลังการ ฉีด Filler

1. ห้ามนอนราบ 3 ชั่วโมง

2. ข้อห้ามภายใน 2 วันควรเลี่ยงยาหรือสารที่อาจจะมีผลต่อการฟกช้ำได้ง่าย เช่นยากลุ่ม Aspirin, ยาแก้ปวดข้อบางชนิด เช่น Brufen, Voltaren วิตามินอี หรือแอลกอฮอล์ อย่างน้อย 24 ชม รวมถึงควรงดการออกกำลังกาย และการเข้าซาวน่า

3. ข้อห้ามภายใน 2 อาทิตย์ ห้ามโดนความร้อน หรือ ทำเลเซอร์ รวมถึงทรีตเม้นต์ ที่มีความร้อน เช่น RF ยกกระชับ ทำ IPL ทำ Fractional Laser Co2 กรอผิว ทำ AHA ลอกหน้า รวมถึงการใช้ไดร์เป่าผม เข้าซาวน่า อบไอน้ำ เพราะความร้อนจะทำให้ฟิลเลอร์สลายเร็วขึ้น

4. ดื่มน้ำมากๆ เพราะจะช่วยให้ฟิลเลอร์คงสภาพได้นานขึ้น เนื่องจากฟิลเลอร์เป็นสารที่อุ้มเก็บกักน้ำได้ค่อนข้างดีค่ะ

เอาล่ะค่ะ รู้จักกับฟิลเลอร์กันพอสมควรแล้ว ก่อนตัดสินใจไปฉีดฟิลเลอร์ที่ไหน อย่าลืมตรวจสอบมาตรฐานและความน่าเชื่อถือของผู้ให้บริการด้วยนะคะ เพราะเรื่องเล็กๆ เกี่ยวกับความงามอย่างฟิลเลอร์นี่ล่ะค่ะ ถ้าเผลอไปใช้บริการจากหมอกระเป๋า หรือคลินิคที่ไม่ได้มาตรฐาน ก็อาจจะบานปลายกลายเป็นปัญหาให้ต้องปวดหัวกันได้เลยทีเดียว

โฟลิก สำหรับว่าที่คุณแม่คนใหม่

folic.jpg
สำหรับคนที่เตรียมตัวเป็นคุณแม่ หรือมีเพื่อนฝูงที่กำลังตั้งครรภ์อยู่นั้น อาจจะเคยได้ยินผ่านหู ผ่านตามาบ้างเกี่ยวกับเรื่องราวของ “โฟลิก” ว่าจำเป็นต่อคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์

จะจำเป็นอย่างไร และเพราะอะไรนั้น วันนี้เรามีสาระความรู้ดีๆ มาฝากกันค่ะ

โฟลิก หรืออาจเรียกว่าโฟลาซินหรือ โฟเลต (folate) หรือวิตามิน บี 9 เป็นวิตามินที่ละลายน้ำ มักจะพบในอาหารตามธรรมชาติ มีหน้าที่สำคัญคือ เป็นส่วนประกอบสำคัญในการสร้างสารพันธุกรรม RNA และ DNA และ ทำงานร่วมกับ vitamin B12 ในการสร้างเม็ดเลือดแดงให้สมบูรณ์แข็งแรงค่ะ

โฟลิกช่วยเพิ่มความพร้อมของคุณแม่ เพราะเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของเอนไซมน์ในร่างกาย ทำให้ร่างกายโดยรวมทำงานได้อย่างครบถ้วน 1 สำหรับคุณแม่ โฟลิกจะช่วยสร้างเม็ดเลือด ลดปัญหาโลหิตจางให้กับคุณแม่ 2 สำหรับทารก มีการวิจัยพบว่า หากคุณแม่ทานก่อนการตั้งครรภ์จะช่วยลดอาการผิดปกติของทารกในครรภ์ เรื่องกระดูกสันหลังปิดไม่ครบถ้วน ช่วยให้ระบบประสาททำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในต่างประเทศจึงมีการแนะนำว่าสำหรับผู้ที่ต้องการจะมีบุตรนั้น ควรจะได้รับโพลิกก่อนการตั้งครรภ์ ซึ่งจะดีต่อทั้งคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ และทารกที่อยู่ในครรภ์ เนื่องจากพัฒนาการของสมอง และระบบประสาทของทารก จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องภายหลังการปฏิสนธิ และหลอดประสาทจะปิดอย่างสมบูรณ์ประมาณวันที่ 28 หลังการปฏิสนธิ ถ้าจะให้ได้ผลจริงๆ ควรเริ่มทานก่อนการตั้งครรภ์ 1-3 เดือน เลยล่ะค่ะ โดยปริมาณของโฟลิกที่ควรได้รับในแต่ละวันสำหรับว่าที่คุณแม่ คือ 400-600 ไมโครกรัม

โฟลิกจะอยู่ในอาหารทั่วๆ ไปนี่ล่ะค่ะ ทั้งผัก ผลไม้ และอาหารประเภทโปรตีน แค่เราเลือกรับประทานให้ถูก และในปริมาณที่เพียงพอ ก็มั่นใจได้ว่า ว่าที่คุณแม่ จะได้รับสารโฟลิกอย่างเพียงพอ ซึ่งผักที่มีสารโฟลิกอยู่นั้น ก็เป็นผักทั่วๆ ไป ที่เรารู้จัก ทั้งผักโขม ถั่วชนิดต่างๆ หน่อไม้ฝรั่ง ผักกาดเขียว บีทรูท บล็อคเคอรี่ กะหล่ำ กะหล่ำปลี มะละกอ ผักกาดหอม ผักชีฝรั่ง สาหร่ายทะเล และ ผักคะน้า เป็นต้น ทั้งนี้อาหารที่มีโฟเลตอยู่มากเป็นพิเศษ ได้แก่ ยีสต์ เครื่องในเนื้อสัตว์ น้ำนม ถั่วเมล็ดแห้ง หน่อไม้ เห็ด และผักใบเขียว เช่น ผักคะน้า บรอกโคลี รวมถึงในน้ำผลไม้ เช่น น้ำส้ม อีกด้วยค่ะ

ลองมาดูกันซักหน่อยค่ะ ว่าอาหารแต่ละประเภท ให้โฟลิกกันมากน้อยแค่ไหน

อาหาร                                           โฟลิก(หน่วยไมโครกรัม)

ถั่วแดงหลวง(1/2 ถ้วยตวง)                 179

ธัญพืชต่างๆ(1/2 ถ้วยตวง)                 146-179

กระเจี๊ยบ(1/2 ถ้วยตวง)                     134

ผักขม(1/2 ถ้วยตวง)                        131

ถั่วลิสง(1/2 ถ้วยตวง)                        106

อะโวคาโด(1/2 ถ้วยตวง)                    75

ขนมปัง( 2 แผ่น)                              60

ส้ม(1 ผล)                                      60

บล็อกโคลี(1/2 ถ้วยตวง)                    52

ข้าวโพด(1/2 ถ้วยตวง)                      38

โยเกิร์ต(1 ถ้วย)                               24

สำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ การดูแลเรื่องสุขภาพร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรง เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้เกิดความมั่นคงทางจิตใจ และอารมณ์ ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพที่ดีในอนาคตของทารกน้อยที่อยู่ในครรภ์ วันนี้ ใครที่กำลังวางแผนจะมีเจ้าตัวน้อยๆ อย่าลืมมองหาอาหารที่ให้สารโฟลิกกันด้วยนะคะ  ^^

Transfat ภัยร้ายใกล้ตัว

transfat.jpg
อาหารประเภทฟาสต์ฟู้ด ขนมขบเคี้ยว ทั้งแครกเกอร์ เฟรนช์ฟรายส์ โดนัท ที่อาจจะเป็นของโปรดของหลายๆ คน ล้วนเป็นอาหารที่ซ่อนไว้ด้วยอันตรายต่อสุขภาพที่เรามักจะมองข้ามกันค่ะ สาเหตุหลักที่นักวิจัยระบุเช่นนั้น ก็เพราะอาหารเหล่านี้เป็นอาหารที่มักจะมีส่วนประกอบของกรดไขมันทรานส์ (Trans Fatty Acid หรือ Trans Fat) อยู่ด้วย โดยส่วนผสมเหล่านี้จะมีชื่อบนฉลากอาหาร ระบุไว้ว่า กรดไขมันชนิดทรานส์ หรือ Hydrogenated Oil หรือ Partially Hydrogenated Oil

วันนี้ เรามาทำความรู้จักกับกรดไขมันทรานส์กันซักหน่อย ว่าเป็นอย่างไร และ ส่งผลร้ายต่อสุขภาพเราอย่างไรกันบ้าง

ไขมันทรานส์ เป็นกรดไขมันที่เกิดจากกระบวนการแปรรูปกรดไขมันไม่อิ่มตัวให้กลายเป็นกรดไขมันอิ่มตัวสูง โดยการเติมไฮโดรเจนลงไปในน้ำมันพืช ที่เรียกว่า กระบวนการไฮโดรจีเนชั่น (Hydrogenation) เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วเหลือง หรือ เพื่อให้น้ำมันที่อยู่ในสถานะของเหลว เปลี่ยนไปเป็นของแข็ง หรือกึ่งแข็ง เช่น เนย เพราะจะทำให้อาหารคงความแข็งตัวที่อุณหภูมิห้อง นอกจากนี้ ไขมันทรานส์ยังมีอายุการเก็บนาน และชะลอการเหม็นหืน โดยที่เนื้อสัมผัสของอาหารไม่แห้ง อาหารประเภทอบจะสามารถลอกเป็นชั้นได้ ทนความร้อนได้สูง รสชาติดี และยังเป็นวัตถุดิบที่มีราคาถูกอีกด้วย จึงเป็นที่นิยมในอุตสาหกรรมอาหารอย่างแพร่หลาย ทั้งในอุตสาหกรรมอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดที่มักใช้ในการทอดไก่ เฟรนช์ฟรายส์ โดนัท หรือในอุตสาหกรรมเบเกอร์รี่ ที่พบใน ครีมเทียม และวิปปิ้งครีม เป็นต้น

การทานอาหารที่มีกรดไขมันทรานส์ในปริมาณที่มากจนเกินไป จะมีผลต่อการทำงานของเอนไซม์ Cholesterol Acyltranferase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำหน้าที่สำคัญในการเมตาบอลิซึมของคอเลสเตอรอล ทำให้ระดับ LDL ซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีในเลือดเพิ่มขึ้น และลดระดับ HDL ซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลชนิดดี นอกเหนือจากนั้น เนื่องจากไขมันทรานส์เป็นไขมันที่เกิดจากการแปรรูป จึงย่อยสลายได้ยากกว่าไขมันชนิดอื่น ทำให้ตับต้องทำงานหนักในการสลายไขมันทรานส์ด้วยวิธีการที่แตกต่างไปจากการย่อยสลายไขมันตัวอื่นๆ ทำให้การทานไขมันทรานส์ในปริมาณที่มากจนเกินไป นอกเหนือจากจะทำให้อ้วน และมีไขมันส่วนเกินสะสมแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดสภาวะที่ผิดปกติกับร่างกาย คือ มีภาวะการทำงานของตับที่ผิดปกติ เพิ่มอัตราความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด โดยมีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องยืนยันหลายชิ้นเลยทีเดียวค่ะ

ด้วยผลเสียต่อสุขภาพของผู้คนในหลายๆ ด้าน จึงเริ่มมีการเคลื่อนไหวเพื่อรณรงค์ไม่ให้มีการใช้ไขมันชนิดนี้ในอุตสาหกรรมอาหารในหลายๆ ประเทศ จนหลายประเทศเริ่มมีมาตรการ และกฎหมาย ควบคุมการใช้ไขมันทรานส์ในอุตสาหกรรมอาหารกันแล้ว แต่ในประเทศไทยเรายังไม่มีค่ะ อาจจะต้องรอกันอีกซักระยะ ก็คงต้องเริ่มที่การดูแลสุขภาพของตัวเราเองกันก่อน หลีกเลี่ยง อาหารประเภทของทอด ทั้ง ไก่ทอด เฟรนซ์ฟรายส์ นักเก็ต ซึ่งมักใช้น้ำมันทอดซ้ำๆ จนหนืด รวมทั้งแฮมเบอเกอร์ หรือขนมขบเคี้ยวที่เก็บไว้นานๆ แต่ก็ยังคงความกรอบไว้ได้ นอกจากนี้ยังรวมถึงอาหารที่มีส่วนประกอบของเนยขาว และมาร์การีน เช่น คุ้กกี้ พาย หรือขนมขบเคี้ยวชนิดแท่งอีกด้วย

นำมาฝากกันกับเรื่องดีๆ ที่ควรรู้ …. เริ่มใส่ใจดูแลสุขภาพกันตั้งวันนี้นะคะ ^^