ทำความรู้จักกับยาแก้แพ้ – Antihistamine

cold.jpg
อยู่กลางฤดูฝน แต่อากาศก็เปลี่ยนแปลงกันได้รายวัน เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวลมพัดมาสบายๆ ซักพักก็อาจจะมีสายฝนโปรยลงมาพอให้รถติดกันนิดหน่อย ช่วงอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ อย่างนี้ หลายๆ คน อาจจะมีอาการป่วยที่เรียกกันว่าแพ้อากาศกันได้ โดยเฉพาะในเด็กๆ หรือในผู้ที่ทำงานหนัก พักผ่อนไม่ค่อยจะเพียงพอ ที่แน่ๆ พอเริ่มมีน้ำมูก คัดจมูก หรือมีอาการจาม สิ่งแรกที่เรามักจะนึกถึงกันคงหนีไม่พ้นยาแก้แพ้ หรือที่เรียกว่า Antihistamine กันล่ะค่ะ
อะไรคือ Antihistamine และ การใช้ยาดังกล่าวจะช่วยรักษาอาการแพ้อะไรได้บ้าง มีผลข้างเคียง หรือข้อควรรู้อะไรบ้าง วันนี้ มาเฉลยกันซักหน่อยค่ะ

ก่อนอื่น มาทำความรู้จักกับสารฮิสตามีนกันก่อนค่ะ ฮิสตามีน เป็นสารที่ถูกสร้างและเก็บอยู่ใน Mast cells และเซลเม็ดเลือดขาวชนิดเบโซฟิล เมื่อถูกกระตุ้น Mast cells และ เบโซฟิล ก็จะหลั่งสารฮิสตามีน ออกมาในปริมาณที่มาก จนก่อให้เกิดโรคขึ้นได้ โดยตัวรับฮิสตามีน จะไปจับตัวกับสารฮิสตามีน และออกฤทธิ์ต่อระบบต่างๆ ในร่างกาย เช่น ออกฤทธิ์ต่อ Sensory nerve ที่ผิวหนัง ทำให้เกิดอาการคัน หรือ ออกฤทธิ์ต่อหลอดเลือดทั่วๆไป ทำให้เกิดผื่นแดงตามผิวหนัง หรือ ออกฤทธิ์ต่อระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดอาการหดเกร็ง อาการหืด หรือแม้แต่ ออกฤทธิ์ต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดอาการปวดท้อง อาเจียน เป็นต้น

สำหรับ สารต้านฮิสตามีน (antihistamine) หรือ ที่เราคุ้นเคยกันในฐานะ ยาแก้แพ้ เป็นยาที่ใช้เพื่อลดผลของ ฮิสตามีน (histamine) โดย จะออกฤทธิ์โดยตรงต่อตัวรับฮิสตามีน ยาในกลุ่มนี้ จึงมีชื่อเรียกรวมๆ เป็นภาษาฝรั่งว่า Antihistamine ค่ะ

ยาแก้แพ้ในกลุ่มนี้ มีประโยชน์ ในด้านการลดอาการต่างๆ อันเกิดจากการแพ้ ได้แก่ การบรรเทาอาการแพ้อากาศ ที่ทำให้มีอาการจาม หรือมีน้ำมูกไหล บรรเทาอาการแพ้ทางผิวหนัง ลมพิษ ผื่นคันต่างๆ และ การบรรเทาอาการแพ้จากโรคหวัด ลดน้ำมูก ทำให้น้ำมูกแห้ง โดยยาแก้แพ้ แต่ละยี่ห้อที่เราพบในร้านขายยา ก็จะใช้สารต้านฮิสตามีน ต่างๆ กันออกไป เพราะสารที่จัดเป็นสารต้านฮิสตามีนก็มีหลากหลายชนิดเลยทีเดียวค่ะ ยกตัวอย่างเช่น ไซโปรเฮปตาดีน คลอเฟนิรามีน บรอมเฟนิรามีน ไซโปรเฮปตาดีน ไตรโพรลิดีน เป็นต้น

การเลือกใช้ยาแก้แพ้ในปัจจุบัน ก่อนอื่น เราอาจแบ่งยาแก้แพ้ออกเป็นสามกลุ่ม ได้แก่

กลุ่มแรก Sedating Antihistamine ได้แก่ กลุ่มที่มีตัวยา เช่น Chlophenilamine / Hydroxyzine / Tripolidine / Brompheniramine เป็นกลุ่มยาที่ผ่านตัวกลางของระบบเลือดและสมองได้ดี จึงอาจมีผลข้างเคียงต่อระบบประสาทสมองส่วนกลาง ทำให้เกิดอาการง่วงได้ ทั้งยังอาจมีผลทำให้ คอแห้ง ปากแห้ง ท้องผูก ปัสสาวะลำบาก แต่ข้อดีของยากลุ่มนี้คือสามารถลดอาการคันได้ดีกว่ายาในกลุ่มอื่นๆ

กลุ่มที่สอง Nonsedating Antihistamines ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อลดจุดด้อยของยาในกลุ่มที่แรก ทำให้มีคุณสมบัติที่ดีขึ้น คือ ไม่ทำให้ง่วง ออกฤทธิ์นานกว่า และออกฤทธิ์โดยตรงกับตัวรับฮิสตามีน ทำให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น สารต้านฮิสตามีนที่ใช้ในยากลุ่มนี้ได้แก่ Terfenadine / Astemizole / Lolatadine / Mequitazine / Acrivastine / Azelastine / Ebastine / Epinastine โดยมีข้อจำกัด ของยาบางตัว เช่น Terfenadine / Astemizole  ที่อาจส่งผลต่อหัวใจทำให้หัวใจเต้นผิดปกติได้ ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคหัวใจ จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาในกลุ่มนี้

กลุ่มที่สาม ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อแก้ไขผลข้างเคียงจากยากลุ่มที่สอง จึงไม่ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ แต่ยังคงให้คุณสมบัติลดอาการแพ้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ยากลุ่มนี้ มีราคาสูงกว่ายาแก้แพ้ในกลุ่มอื่นๆ โดยจะมีสารต้านฮิสตามีนชนิด Fexofenadine หรือ Certizine เป็นต้น

การเลือกใช้ยาแก้แพ้แต่ละกลุ่มนั้น ขึ้นอยู่กับอาการ และสาเหตุของการแพ้ดังต่อไปนี้ค่ะ

อาการของโรคภูมิแพ้ทางจมูก (Allergic rhinitis) จะมีอาการจามร่วมกับอาการคัดจมูก ควรเลือกใช้ยาในกลุ่มที่ 2 ร่วมกับยาลดอาการคัดจมูก

อาการเยื่อจมูกอักเสบที่ไม่ใช่ภูมิแพ้และโรคหวัด (Non-allergic rhinitis & Common cold) ควรเลือกใช้ยาในกลุ่มที่หนึ่ง เนื่องจากสามารถลดน้ำมูกที่ไม่ได้เกิดจากสารฮีสตามีนได้ดีกว่า โดยเฉพาะเมื่อใช้ร่วมกับยาลดอาการคัดจมูก

อาการของโรคหืด (Asthma) ควรใช้ยาต้านฮิสตามีนกลุ่มที่ 2  เนื่องจากมีฤทธิ์แก้แพ้และแก้อักเสบร่วมด้วย และควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่มที่หนึ่งเพราะจะทำให้เสมหะข้น เหนียว ยากต่อการขับออก

อาการคัน (Pruritus) ควรเลือกใช้ยาในกลุ่มที่หนึ่ง เพราะจะให้ผลที่ดีกว่า และช่วยลดอาการคันได้ดี

ข้อสำคัญ การใช้ยาแก้แพ้ ก่อนเกิดอาการ จะให้ผลดีกว่าการใช้ยาเมื่อมีอาการแพ้แล้ว ดังนั้น หลายๆ ครั้ง ที่เรารู้ว่าเรามีอาการแพ้ต่ออะไรบ้าง อาจจะเป็นฝุ่น ควัน ละอองเกสร อาหาร หรือสารเคมี หากจำเป็นต้องเข้าไปในบริเวณที่จะเกิดอาหารแพ้ ต้องสัมผัส หรือเกี่ยวข้องกับสิ่งที่อาจกระตุ้นอาการแพ้ การทานยาแก้แพ้ไว้ล่วงหน้า จะให้ผลที่ดีกว่าค่ะ

ยาแก้แพ้ อาจจะช่วยลดอาการต่างๆ ได้ ทำให้ร่างกายไม่ทรุดโทรม หรือมีอาการป่วยในส่วนอื่นๆ ที่ตามมา ทว่าในหลายๆ ครั้ง โดยเฉพาะสำหรับอาการที่เกิดจากหวัด ยาแก้แพ้นั้น ทำหน้าที่เพียงแค่ช่วยลดอาการที่เป็นผลจากโรค หากแต่ไม่ได้ช่วยทำลายเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของอาการป่วย การดูแลร่างกายให้แข็งแรง ย่อมเป็นสิ่งที่ดีที่สุดค่ะ ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ดูแลเรื่องโภชนาการให้ครบถ้วน รวมถึงวิตามิน ที่จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย และที่สำคัญค่ะ ดูแลสุขภาพใจของเราให้สดใส ไม่เครียดจนเกินไป เพราะสุขภาพใจที่ดี ย่อมเป็นส่วนสำคัญของสุขภาพกายที่ดีไปพร้อมๆ กันค่ะ

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s