รู้จักกับวิตามิน

vit.jpg
เราคงคุ้นเคยกับคำว่า วิตามิน กันมาพอสมควร ว่าแต่ว่า วิตามินคืออะไร มีความสำคัญต่อร่างกายเราอย่างไร มีกี่ประเภท วันนี้มาดูกันค่ะ

วิตามิน เป็นสารอินทรีย์ประเภทหนึ่ง ที่มีความจำเป็นต่อร่างกายของเราในการสร้างพลังงานในเซลล์ และเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับร่างกายเราค่ะ วิตามิน ไม่ใช่อาหาร และไม่มีแคลอรี่ ไม่สามารถให้พลังงานโดยตรงกับร่างกายของเรา ทั้งยังไม่สามารถทดแทนอาหารได้ ทว่าเราก็ยังคงจำเป็นต้องได้รับวิตามินในปริมาณที่เพียงพอในแต่ละวัน เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง และช่วยในการเปลี่ยนอาหารให้เป็นพลังงาน

วิตามิน ที่จำเป็นต่อร่างกายของเรา มีทั้งหมด 13 ชนิด แบ่งออกเป็นกลุ่มที่สามารถละลายได้ในน้ำมัน หรือในไขมัน ได้แก่ วิตามินเอ วิตามินอี วิตามินดี และ วิตามินเค ซึ่งวิตามินเหล่านี้ ร่างกายสามารถเก็บสะสมไว้ในกล้ามเนื้อได้ จึงอาจจะไม่จำเป็นต้องทานวิตามินประเภทนี้ทุกวัน ในขณะเดียวกัน การได้รับวิตามินประเภทนี้มากเกินไป ก็อาจทำให้เกิดการสะสมมากจนเกิดเป็นพิษจากวิตามินได้เช่นกัน
วิตามินอีกกลุ่มหนึ่ง คือวิตามินที่ละลายได้ในน้ำ ได้แก่ วิตามินซี และ วิตามินบี เป็นต้น และเนื่องจากวิตามินประเภทนี้สามารถละลายได้ในน้ำ เมื่อมีปริมาณวิตามินที่เกินความจำเป็นของร่างกาย จึงสามารถถูกขับออกทางปัสสาวะได้ โดยไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพค่ะ

เมื่อเอ่ยถึงวิตามิน ก็ต้องเอ่ยถึงอนุมูลอิสระ  ซึ่งเป็นสารที่เกิดจากปฏิกิริยาออกซิเดชั่น ที่เกิดขึ้นในร่างกายเราตลอดเวลา ซึ่งอนุมูลอิสระเหล่านี้ จะสะสมอยู่ภายในเซลล์ และอวัยวะส่วนต่างๆ และทำลายเซลล์ จนเป็นสาเหตุของความเสื่อมของเซลล์ในที่สุด
วิตามินหลายๆ ชนิด มีส่วนในการต้านอนุมูลอิสระเหล่านี้ ช่วยปกป้องเนื้อเยื่อที่แข็งแรงของร่างกาย เสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและหลอดเลือด ทั้งยังช่วยในการชะลอการเสื่อมของผิวพรรณอีกด้วย จากงานวิจัย ทำให้พบว่า วิตามิน ที่ให้ผลต้านอนุมูลอิสระอย่างชัดเจนได้แก่ วิตามินเอ วิตามินอี วิตามินซี และแร่ซีเลเนี่ยม

การรับประทานวิตามินเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดควรทานพร้อมหรือหลังอาหาร เนื่องจากวิตามินหลายชนิดจะดูดซึมได้ดีเมื่อรับประทานพร้อมอาหาร เช่น วิตามินเอ และเบตาแคโรทีน จะถูกดูดซึมได้ดีเมื่อรับประทานพร้อมไขมัน สังกะสีจะถูกดูดซึมได้ดีเมื่อทานร่วมกับอาหารประเภทโปรตีนเป็นต้น อย่างไรก็ตาม อาหารหรือเครื่องดื่มบางชนิด ก็อาจยับยั้งการดูดซึมวิตามินได้ เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้การดูดซึมโฟเลต และไบโอตินลดลง

ทั้งนี้ การรับประทานวิตามินในแต่ละวันนั้น ควรจะอยู่ในปริมาณที่แนะนำต่อวัน (Amount per Daily Dose) ถ้าหากลืมทานวิตามินมื้อใด ก็อาจทานพร้อมกับวิตามินมื้อถัดไปได้ แต่ถ้าลืมข้ามวันไปแล้ว ให้รับประทานตามปกติ ไม่ต้องทานวิตามินของมื้อที่แล้วควบคู่ไปด้วย เพราะการได้รับวิตามินเกินขนาดอาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ ถึงแม้ว่าจะไม่มากเท่ากับการรับประทานยาเกินขนาดก็ตาม ทั้งนี้ การรับประทานวิตามินอย่างปลอดภัยและเกิดประโยชน์สูงสุด ควรอยู่ภายใต้การดูแลของบุคลากรทางการแพทย์

เนื่องจากวิตามินส่วนมาก มักสลายตัวได้ง่ายเมื่อสัมผัสกับความร้อน ความชื้น และ ออกซิเจนในอากาศ ดังนั้น ควรเก็บรักษาวิตามินไว้ในที่แห้ง และเย็น เช่น ช่องเย็นธรรมดา ห้ามแช่แข็ง แต่ก็สามารถเก็บในอุณหภูมิห้องปกติได้ด้วย อย่างไรก็ดี ควรหลีกเลี่ยงการเก็บไว้ในที่ร้อนจัด หรือมีความชื้นสูง เช่น ในห้องน้ำ รถยนต์ เป็นต้น ถ้าจำเป็นต้องเดินทางก็อาจนำติดตัวไปเฉพาะจำนวนที่พอใช้ เพื่อให้วิตามินยังคงประสิทธิภาพที่ดีค่ะ

ดอกไม้ ความงาม และวันแห่งความรัก

กระเจี๊ยบ.jpg
ผ่านพ้นวันความรัก เทศกาลแห่งสีหวานๆ เรื่องราวโรแมนติก และดอกไม้สวยๆ กันไปแล้ว แต่เรื่องหวานๆ สวยๆ ของสาวๆ ไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่นั้น วันนี้ มาเตรียมสวยส่งท้ายวันวาเลนไทน์กันดีกว่าค่ะ
สาวๆ คนไหนหลงใหลในความงามของดอกไม้ และเคยฝันอยากจะสดใสงดงามในแบบเดียวกัน ต้องลองมาดูสูตรบำรุงผิวพรรณจากดอกไม้กัน วันนี้เรามีสูตรความงามในแบบง่ายๆ มาฝากกัน

ทรีตเมนท์อัญชัน
มาเริ่มกันที่สูตรความงามสำหรับผมกันก่อน สำหรับอัญชันเป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้วว่ามีคุณสมบัติในการบำรุงเส้นผม และขน สูตรทรีตเมนท์นี้จะช่วยบำรุงให้เส้นผมแข็งแรง นุ่มสลวยเป็นเงางาม
ส่วนผสม : ดอกอัญชัน น้ำมันละหุ่ง ไข่แดง พิมเสนบด
วิธีทำ
1. ล้างดอกอัญชันให้สะอาด แกะเอาเฉพาะกลีบดอกให้ได้ประมาณ 1 ถ้วย
2. นำน้ำมันละหุ่งประมาณ 1 ถ้วย ไข่แดง 1 ฟอง พิมเสนบด 1 ช้อนชา นำส่วนผสมทั้ง 3 ผสมกันแล้วนำไปปั่นจนละเอียด จนได้เนื้อข้นๆ
3. ใส่กลีบดอกอัญชันลงไปปั่นด้วยกันจนกลายเป็นเนื้อครีม
วิธีใช้
สระผมให้สะอาดก่อน จากนั้นจึงนำทรีตเมนท์อัญชันชโลมให้ทั่วเส้นผมแล้วทิ้งไว้ประมาณครึ่งชั่วโมง หรืออาจจะเพิ่มประสิทธิภาพของทรีตเมนท์ด้วยการอบผมด้วยความร้อน ก่อนจะล้างให้สะอาด หากไม่อยากให้เหลือกลิ่นคาวจากไข่แดงให้ล้างผมด้วยน้ำมะนาวก็ได้ค่ะ แนะนำว่าสูตรบำรุงผมนี้ให้ทำต่อเนื่องทุกวัน เป็นเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์นะคะ รับรองว่าเส้นผมจะเงางามเป็นประกาย มีสุขภาพดี ไม่แพ้การใช้ทรีตเม้นท์ราคาแพงๆในตลาดเลยล่ะค่ะ

คลีนเซอร์ดอกกระเจี๊ยบ
กระเจี๊ยบสดดอกสีแดง กลีบดอกอ้วนฉ่ำน้ำนั้น อุดมไปด้วยวิตามิน A วิตามิน B วิตามิน C และมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆ คล้ายผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว ช่วยขจัดเชื้อแบคทีเรียได้เป็นอย่างดี คลีนเซอร์ดอกกระเจี๊ยบจึงช่วยล้างสิ่งสกปรก เหงื่อไคล และสารพิษตกค้าง ทั้งยังช่วยให้ผิวเนียนนุ่มได้อีกด้วยค่ะ
ส่วนผสม : ดอกกระเจี๊ยบ กุหลาบมอญ ไข่แดง นมสด น้ำผึ้ง น้ำแร่
วิธีทำ
1. ล้างดอกกระเจี๊ยบให้สะอาด และล้างให้ขนอ่อนเล็กๆ ที่ดอกกระเจี๊ยบหลุดออก ป้องกันไม่ให้เกิดการระคายเคืองต่อผิว แล้วแกะเอาเนื้อมาใช้ประมาณ 1 ถ้วย
2. นำกุหลาบมอญมาล้างให้สะอาด แล้วเด็ดกลีบออกให้ได้ประมาณ 1 ถ้วย
3. นำไข่แดง 2 ฟอง นมสด 1 ถ้วย น้ำผึ้งประมาณ 1 ใน 4 ของถ้วย น้ำแร่ และกลีบดอกกุหลาบมอญมาปั่นให้เข้ากันจนได้เป็นเนื้อข้น
4. ใส่เนื้อดอกกระเจี๊ยบที่เตรียมไว้ลงไปปั่นให้เข้ากันจนเป็นเนื้อครีม
วิธีใช้
ใช้พอกตัวหลังอาบน้ำ พอกทิ้งไว้ประมาณ 20 นาทีก่อนจะล้างออกให้สะอาด ง่ายๆเพียงเท่านี้ ผิวก็สวยสะอาดแบบสุขภาพดีแล้ว

สูตรความงามตามธรรมชาติจากดอกไม้ที่เลือกหากันได้ทั่วไป ลองทำกันดูนะคะ รับรองว่าจะช่วยให้ผิวพรรณสวยใสเหมือนดอกไม้แรกแย้มกันเลยทีเดียวล่ะค่ะ

โรคจอประสาทตาเสื่อม อีกหนึ่งเรื่องควรระวังในวัย 40+ (ตอนที่ 2)

eye
ต่อเนื่องจากบทความครั้งที่แล้ว กับเรื่องของโรคจอประสาทตาเสื่อมกันค่ะ เนื่องจาก ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งของการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม คือกระบวนการที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของเนื้อเยื่อ ทำให้เชื่อว่าสารต้านอนุมูลอิสระน่าที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้ โดยพบว่าการทานสารต้านอนุมูลอิสระ ประเภทวิตามินซี วิตามินอี beta carotene และ Zinc ในปริมาณที่มากพอ จะสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมได้ โดยมี ประมาณการรับสารอาหารทดแทน ต่อวันดังต่อไปนี้ค่ะ 1. วิตามินซี 500 mg 2. วิตามินอี 400 IU 3. Beta carotene 15 mg 4. Zinc 80 mg ของ Zinc oxide 5. Copper 2 mg ของ Copper oxide

กระนั้นสารอาหารทดแทนดังกล่าวไม่สามารถป้องกัน รักษา หรือช่วยให้การมองเห็นที่สูญเสียไปแล้วดีขึ้นได้ แต่เป็นการลดความเสี่ยงที่โรคจะพัฒนาไปสู่ระยะรุนแรงจนทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นในคนไข้จอประสาทตาเสื่อมที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง ซึ่งหากมีอาการของโรคจอประสาทตาเสื่อมเกิดขึ้นแล้ว ในปัจจุบันมีแนวทางการรักษาอยู่สองวิธี คือ

1) การรักษาด้วยแสงเลเซอร์ โดยใช้แสงเลเซอร์ เพื่อยับยั้งหรือชะลอเส้นเลือดผิดปรกติที่ทำให้เกิดเลือดออกใต้จอประสาทตา ซึ่งแม้ว่าจะไม่สามารถทำให้การมองเห็นที่เสียไปกลับคืนมา หรือรักษาโรคให้หายขาดได้ แต่ก็สามารถช่วยคงสภาพการมองเห็นให้เหลือไว้ได้มากกว่าการที่ไม่ได้รับการรักษาเลย และ

2) การรักษาด้วยการผ่าตัด เพื่อนำเส้นเลือดที่ผิดปกติออกจากใต้จอประสาทตา รวมทั้งแก้ไขภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ของโรค แต่คนไข้ก็จะมีการมองเห็นลดลงหลังการรักษาไม่ต่างจากการใช้แสงเลเซอร์

ข้อมูลในปัจจุบันในส่วนที่เกี่ยวกับโรคจอประสาทตาเสื่อมนั้น แม้ว่าจะมีแนวทางการรักษา แต่ก็เป็นเพียงการชะลอไม่ให้อาการของโรครุนแรงขึ้นเท่านั้น ยังไม่สามารถทำได้โดยสมบูรณ์ และอาจมีภาวะแทรกซ้อนจากการรักษา คนไข้ส่วนใหญ่ที่เป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมจะยังคงสูญเสียการมองเห็นบ้าง ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ จึงแนะนำให้ผู้ที่มีอายุระหว่าง 40 – 64 ปี ที่แม้จะไม่มีอาการผิดปกติในการมองเห็น ก็ควรได้รับการตรวจสุขภาพตา รวมถึงการตรวจจอประสาทตา ทุกๆ 2 – 4 ปี และ สำหรับผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจทุกๆ 1 – 2 ปี และหากมีอาการของโรค และได้ทำการรักษาแล้ว สิ่งสำคัญคือการให้คนไข้ได้ปรับตัวกับภาวะสายตาเลือนลาง และหัดใช้เครื่องมือช่วยในการมองเห็น เพื่อให้คนไข้สามารถใช้การมองเห็นที่เหลืออยู่ในการดำเนินชีวิตตามปกติค่ะ

โรคจอประสาทตาเสื่อม อีกหนึ่งเรื่องควรระวังในวัย 40+

eyes
ดวงตาคงจะไม่ได้เป็นเพียงหน้าต่างของหัวใจ เพราะดวงตาเป็นจุดเริ่มต้นของการรับรู้ ที่ทำหน้าที่เปิดรับข้อมูลเพื่อเข้าสู่กระบวนการทางความคิด การตัดสินใจ และการดำเนินกิจกรรมต่างๆ อีกมากมายในชีวิตเรา โดยในกระบวนการรับรู้ผ่านระบบการมองเห็นนั้น ภาพหรือแสง จะต้องเดินทางเข้าไปในลูกตา ผ่านส่วนประกอบต่าง ๆ ของตา ได้แก่ กระจกตา และเลนส์แก้วตา จนไปตกกระทบที่จอประสาทตา ที่เป็นผนังชั้นในของลูกตา อันประกอบไปด้วยเซลล์ประสาทตาจำนวนมาก ที่ทำหน้าที่ส่งสัญญาณภาพที่ได้ผ่านเส้นประสาทตา ไปสู่สมอง เพื่อทำการแปลสัญญาณเป็นภาพในที่สุด

eye

โดยส่วนที่มีความสำคัญที่สุดส่วนหนึ่งของจอประสาทตา คือ บริเวณจุดกลางรับภาพที่เรียกว่า macula ที่จะทำให้เราสามารถมองเห็นภาพต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน หากจุดกลางรับภาพนี้เสีย จะทำให้ไม่สามารถมองภาพได้ชัดเจน อาจมีอาการเหมือนมีวัตถุมาบังในตรงกลางของภาพ หรือมีการรับภาพในลักษณะที่บิดเบี้ยวไป รวมทั้งอาจทำให้ความสามารถในการเห็นภาพที่ระยะต่างๆ สูญเสียไปค่ะ

วันนี้ มาทำความรู้จักกับโรคจอประสาทตาเสื่อม ที่เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของจุดกลางรับภาพของจอประสาทตา เป็นโรคที่พบมากในกลุ่มอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป และเป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญของการเกิดการสูญเสียการมองเห็นในผู้สูงอายุค่ะ แม้ว่าโรคจอประสาทตาเสื่อม อาจเกิดได้กับผู้ที่มีสายตาสั้นมากๆ  หรือเกิดจากโรคติดเชื้อบางอย่าง แต่โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นโรคที่พบในผู้สูงอายุ โดยทั่วไปจึงอาจถือได้ว่าเป็นการเสื่อมสภาพของร่างกาย โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่ออาการของโรค ได้แก่

1) อายุ เนื่องจากพบได้บ่อยขึ้นในคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป

2) พันธุกรรม พบว่าอัตราความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรม

3) บุหรี่ โดย มีหลักฐานทางการศึกษาพบว่า การสูบบุหรี่ เป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคอย่างชัดเจน

4) ความดันเลือดสูง โดยคนไข้ที่ต้องทานยาลดความดันเลือด และมีระดับของไขมัน Cholesterol ในเลือดสูงและระดับ Carotenoid ในเลือดต่ำ มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม แบบสูญเสียการมองเห็นอย่างรวดเร็ว และ

5) วัยหมดประจำเดือน พบว่า ผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือนที่ไม่ได้รับประทานยาฮอร์โมน estrogen จัดอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง

โรคจอประสาทตาเสื่อม มี 2 ลักษณะ คือ ลักษณะแรก โรคจอประสาทตาเสื่อมแบบแห้ง (Dry AMD) ซึ่งพบได้บ่อยกว่า เกิดจากจุดกลางรับภาพจอประสาทตา มีการเสื่อม  และบางลงทำให้ความสามารถในการมองเห็นจะค่อย ๆ ลดลง อาการลักษณะนี้ จะค่อยๆ เกิดขึ้นอย่างช้าๆ แตกต่างจากลักษณะที่สอง คือ โรคจอประสาทตาเสื่อมแบบเปียก (Wet AMD) ซึ่งพบได้เป็นส่วนน้อย ทว่าจะทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นอย่างรวดเร็ว และเป็นสาเหตุสำคัญของการตาบอด เนื่องมาจากการที่มีเส้นเลือดผิดปกติเจริญเติบโตอยู่ใต้จอประสาทตา และผนังชั้นพี่เลี้ยง และมีการรั่วซึมของเลือด รวมถึงสารเหลวจากเส้นเลือดเหล่านั้น ทำให้จุดกลางรับภาพเกิดอาการบวม ผู้ที่มีอาการจะเริ่มมองเห็นภาพตรงกลางบิดเบี้ยว และมืดลงในที่สุด

รับทราบถึงอาการของโรคแล้ว ก่อนที่จะเริ่มเป็นกังวล เรามาดูกันค่ะว่าควรจะระมัดระวัง สังเกตสัญญาณของโรคกันอย่างไรบ้าง เพื่อที่ว่าหากรู้กันแต่ในระยะแรก ก็จะยังสามารถทำการรักษากันได้ทัน อาการของโรคจอประสาทตาเสื่อมแตกต่างกันออกไปในผู้ป่วยแต่ละคน และยากที่ผู้ป่วยจะสามารถสังเกตความผิดปกติในการมองเห็นได้ในระยะเริ่มแรก เนื่องจากส่วนมาก ยังสามารถใช้ตาอีกข้างหนึ่งในการชดเชยการมองเห็นได้ ทำให้ไม่สามารถสังเกตเห็นถึงความผิดปกติ ยกเว้นกรณีที่มีอาการจอประสาทตาเสื่อมเกิดขึ้นพร้อมกันในตาทั้ง 2 ข้าง ที่ทำให้ผู้ป่วยเริ่มมองตรงกลางของภาพไม่ชัด ขาดหาย มืดดำไป หรือภาพที่เห็นมีลักษณะบิดเบี้ยวจากปกติ

เนื่องจากการสังเกตอาการของโรคอาจะทำได้ยาก จึงแนะนำว่าผู้ที่มีอายุระหว่าง 40 – 64 ปี ที่แม้จะไม่มีอาการผิดปกติในการมองเห็น ก็ควรได้รับการตรวจสุขภาพตา รวมถึงการตรวจจอประสาทตา ทุกๆ 2 – 4 ปี และ สำหรับผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจทุกๆ 1 – 2 ปี เพราะการตรวจพบและทำการรักษาโรคตั้งแต่ระยะเริ่มต้นเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุด เนื่องจากจอประสาทตาที่เสื่อมไปแล้ว การรักษาจะสามารถทำได้เพียงการหยุด หรือชะลอการเสื่อมของจอประสาทตาให้ช้าที่สุดเท่านั้น ซึ่งอาจรักษาไม่ได้เลยหากตรวจพบช้าและมีความรุนแรงค่ะ

เพราะฉะนั้น ใครที่มีปัญหาเกี่ยวกับสายตา การมองเห็น หรือกังวลว่าอาจจะเป็นอาการของโรคจอประสาทตาเสื่อม อย่าลืมรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกันแต่เนิ่นๆ จะได้ทำการรักษากันได้ในขณะที่อาการยังไม่รุนแรงนะคะ