ฟันปลอม และรากฟันเทียม

เรื่องของฟันมีรายละเอียดมากมายที่ต้องใส่ใจดูแล ตั้งแต่ในวัยเด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน ไปจนถึงวัยสูงอายุ สำหรับวันนี้ขอนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับฟันของผู้สูงอายุ เพื่อที่เราจะได้เตรียมการ หรือเข้าใจในตัวของผู้สูงอายุมากขึ้น
ผู้สูงอายุ ในที่นี้หมายถึงผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป เป็นวัยที่ฟันผ่านการใช้งานมานาน จึงมีฟันที่โดนถอนจากสาเหตุต่างๆ มาหลายซี่ และมักจะต้องมีการใส่ฟันปลอม การดูแลฟันสำหรับผู้สูงอายุก็เหมือนกับการดูแลฟันในวัยอื่นๆ เพียงแต่จะต้องมีการทำความสะอาดฟันปลอมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

สำหรับการดูแลฟันปลอมนั้น หากใส่ฟันปลอมชนิดถอดได้ ก็ควรถอดมาล้างทั้งหลังอาหาร และก่อนนอน ใช้แปรงทำความสะอาดฟันปลอมโดยใช้ยาสีฟันแล้วล้างให้สะอาดด้วยน้ำธรรมดา และควรถอดฟันปลอมแช่น้ำก่อนนอน สำหรับบริเวณที่ไม่มีฟันให้ใช้แปรงสีฟันที่มีขนนุ่มทำความสะอาด และหากฟันปลอมมีการแตกหักเสียหาย ไม่ควรซ่อม หรือหาทางแก้ไขโดยใช้เครื่องมือต่างๆ ด้วยตัวเองนะคะ แต่ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อทำการแก้ไขจะดีกว่า
และในส่วนของการดูแลฟันปลอมแบบติดแน่นภายในช่องปาก อย่างเช่น สะพานฟัน ที่เป็นฟันปลอมติดแน่นในช่องปากเพื่อทดแทนฟันที่หายไป 1-2 ซี่ติดกัน โดยมีการเตรียมการ เริ่มต้นจากการกรอฟันข้างเคียงบริเวณช่องว่างนั้น แล้วทำครอบฟัน เชื่อมฟันให้เป็นสะพานฟันสำหรับยึดติดกับรากฟันเทียม จากนั้นทันตแพทย์จะทำการฝังรากฟันเทียมลงในกระดูกขากรรไกร จนกระดูกธรรมชาติเกาะยึดกับรากฟันเทียมแล้ว ทันตแพทย์จึงทำฟันปลอมต่อขึ้นมาจากรากฟันเทียมอีกชั้นหนึ่ง

ข้อดีของฟันปลอมติดแน่น คือ ความสะดวกสะบายของคนไข้ที่ไม่ต้องถอดออกมาล้างทำความสะอาด แต่ก็ยังคงต้องทำความสะอาดให้ดี เมื่อไม่ต้องถอดออกมาก็ไม่ต้องกลัวว่าจะหลงลืมไว้ที่ไหน อย่างไรก็ตาม ค่ารักษาก็จะสูงกว่าการใช้ฟันปลอมชนิดถอดได้ และเมื่อเกิดการแตกหักเสียหายก็จะซ่อมได้ยากกว่าฟันปลอมชนิดถอดได้อีกด้วยค่ะ

ในส่วนของรากฟันเทียม ผู้ที่สนใจทำรากฟันเทียมควรมาปรึกษาทันตแพทย์ เพื่อที่จะตรวจประเมินสภาพในช่องปาก พิมพ์ปาก เอ็กซเรย์ เพื่อประเมินคุณภาพของกระดูกในตำแหน่งที่ต้องการฝังรากฟันเทียม ตรวจสอบอวัยวะข้างเคียงที่เกี่ยวข้อง ทิศทางในการฝังรากฟันเทียม กำหนดชนิดและขนาดของรากฟันเทียมที่จะเลือกใช้ และข้อจำกัดทางกายภาพต่างๆ ของผู้ป่วย เพื่อจัดเตรียมเครื่องมือ และวางแผนการรักษาอย่างละเอียดรอบคอบ

หลังจากที่ทำการประเมินเรียบร้อยแล้ว ทั้งในส่วนของความหนา ความสูงของกระดูกที่เหมาะสม ขั้นตอนการฝังรากฟันเทียมนั้น เริ่มต้นจากการฉีดยาชาบริเวณที่จะฝัง เมื่อยาชาออกฤทธิ์เต็มที่แล้ว ทันตแพทย์จะทำการเปิดเหงือกเป็นบริเวณเล็กๆ แล้วใช้หัวสกรูกรอกระดูกให้เป็นรู ขนาดประมาณ 3-6 มม. ตามขนาดของรากฟันเทียมที่ได้เตรียมไว้ จากนั้นทำการใส่รากฟันเทียมที่ทำจากวัสดุไทเทเนียมเข้าไปในรูนั้น ก่อนทำการเย็บปิด โดยใช้เวลาตั้งแต่ฉีดยาชาจนถึงขั้นตอนการเย็บปิดประมาณ 30-45 นาที จากนั้น ใช้เวลารอให้รากฟันเทียมยึดติดกับกระดูก ประมาณ 4-6 เดือน จึงจะเข้าสู่ขั้นตอนสุดท้ายในการทำการพิมพ์ปาก และใส่ฟันปลอมจากฐานของรากฟันเทียม

รากฟันเทียมนั้น มีข้อดีค่ะ
– เป็นการใส่ฟันติดแน่นวิธีการหนึ่ง เมื่อใส่ฟันเสร็จแล้วผู้ป่วยจะมีความรู้สึกใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติมาก
– หากปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายดี มีการเกาะยึดของรากฟันเทียมกับกระดูกอย่างแข็งแรง ฟันเทียมก็จะมีความแข็งแรง สามารถเคี้ยวอาหารได้ตามปกติ
– การดูแลรักษาเหมือนฟันธรรมชาติทั่วไป คือ การแปรงฟันรอบรากฟันเทียม การใช้ไหมขัดฟัน สามารถใช้ได้ตามปกติเหมือนฟันซี่อื่นๆ

อย่างไรก็ตาม ในการใช้ฟันปลอม เนื้อเยื่อรอบรากฟันเทียมสามารถเกิดการอักเสบได้เหมือนการเกิดโรคเหงือกอักเสบ หรือโรคปริทันต์อักเสบได้ เช่นเดียวกับฟันธรรมชาติ ผู้ป่วยที่ฝังรากฟันเทียมจึงควรดูแลสุขภาพในช่องปากให้ดีอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการนำโลหะไปถูกส่วนที่เป็นรากฟันเทียมที่ฝังอยู่ในกระดูก เพราะอาจจะเกิดปฏิกิริยาทางเคมีระหว่างโลหะ 2 ชนิดที่ต่างกันได้ ดังนั้น ควรแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบ เมื่อต้องการขูดหินน้ำลาย ทำความสะอาดฟันประจำปี เพื่อให้ทันตแพทย์ระมัดระวังในการใช้เครื่องมือโลหะเข้าใกล้รากฟันเทียม

การดูแลฟันในวัยผู้สูงอายุนั้นเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้วัยไหนๆ เลย เพราะฟันนั้นนอกจากจะเป็นส่วนสำคัญในการใช้เคี้ยวอาหารแล้ว ยังช่วยในการออกเสียงให้ชัดเจน ช่วยรักษาโครงของรูปหน้า และยังหมายถึงความมั่นใจของทุกๆ คนอีกด้วยค่ะ

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s