Food Enzyme เอนไซม์สำคัญสำหรับทุกๆ คน

เอนไซม์ (Enzyme) คือสารที่ทำหน้าที่เป็นตัวเร่งการทำงานของระบบต่างๆ ที่อยู่ในร่างกายของเรา เป็นเสมือนตัวตั้งต้นของภูมิคุ้มกันในร่างกาย ถ้าร่างกายของเรามีปริมาณเอนไซม์ที่ไม่สมดุล จนถึงขั้นขาดเอนไซม์เมื่อไร ก็จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายทันที ตั้งแต่ระบบการย่อยอาหาร ระบบการเผาผลาญอาหาร ระบบการขับถ่าย ระบบการให้พลังงานกับร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกัน รวมไปถึงระบบการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ

ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับประเภทของเอนไซม์กันซักหน่อยก่อนดีกว่าค่ะ

Metabolic Enzyme เราอาจจะเข้าใจว่า Metabolic Enzyme เป็นเพียงเอ็นไซม์ที่ช่วยในการเผาผลาญ และให้พลังงานกับร่างกาย แต่จริงๆ แล้ว นอกจากจะช่วยเผาผลาญอาหารแล้ว เอนไซม์ประเภทนี้ยังช่วยสร้างพลังงาน สร้างภูมิต้านทาน ทำให้ร่างกายของเราเจริญเติบโต รวมทั้งช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ทั้งยังช่วยต้านทานโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ อีกด้วย

Digestive Enzyme เป็นเอนไซม์ที่ช่วยในเรื่องการย่อยอาหาร และเป็นเอนไซม์ที่ร่างกายของเราสามารถผลิตขึ้นมาได้เอง โดยตับอ่อนจะรับหน้าที่ในการผลิตเอนไซม์ส่วนนี้ เพื่อย่อยอาหาร และดูดซึมสารอาหารที่เรารับประทานเข้าไป ทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่มีคุณค่า

Food Enzyme เป็นเอนไซม์ที่ได้จากอาหาร พบได้ในอาหารสด อาหารที่ไม่ผ่านการปรุง แบ่งเป็น เอนไซม์จากพืช (Plant Enzyme) และ เอนไซม์จากสัตว์ (Animal Enzyme) ซึ่งการประกอบอาหารโดยนำไปผ่านความร้อนจะทำลายเอนไซม์เหล่านี้ไป

Food Enzyme เป็นเอนไซม์ที่ได้จากอาหารที่เราทานเข้าไป แม้ว่าร่างกายของเราจะผลิตเอนไซม์ได้ แต่ก็ผลิตได้เพียงในระดับหนึ่ง ไม่เพียงพอกับความต้องการ โดยเฉพาะในปัจจุบัน เรามักบริโภคอาหารที่ไม่เหลือเอนไซม์แล้ว เช่น อาหารที่ปรุงแต่งด้วยสารเคมี อาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารที่ผ่านความร้อนนานๆ อาหารแช่แข็ง อาหารที่เก็บไว้เป็นเวลานาน รวมถึงการดื่มแอลกอฮอล์ การรับประทานยา พฤติกรรมการบริโภคเช่นนี้ นอกจากเราจะไม่ได้รับเอนไซม์แล้ว ร่างกายยังต้องใช้เอนไซม์ที่มีอยู่ในการย่อยอาหารเหล่านี้ และการผลิตเอนไซม์ของร่างกายก็จะถดถอยลงไปอีกด้วย ทำให้ร่างกายเสื้อมสภาพ แก่เร็ว หรือเป็นโรคต่างๆ ได้ง่าย

เอนไซม์ที่เราสามารถรับได้จากภายนอกนั้น ส่วนใหญ่จะอยู่ในผัก และผลไม้ต่างๆ รวมทั้งเนื้อสัตว์ด้วย โดยผัก และผลไม้จะต้องยังคงความสด ไม่ผ่านกระบวนการปรุงด้วยความร้อน เพราะ เนื้อสัตว์ ผัก หรือผลไม้ เมื่อผ่านความร้อนก็จะทำให้เอนไซม์ลดน้อยลง โดยในส่วนของผักและผลไม้นั้น เมื่อเก็บเกี่ยวจากต้นใหม่ๆ จะมีเอนไซม์อยู่เป็นจำนวนมาก ทว่ายิ่งเก็บไว้นานเท่าใด เอนไซม์เหล่านั้นก็จะค่อยๆ ลดลงไปอย่างรวดเร็ว นอกจากนั้น สารเคมี ยาฆ่าแมลง ยังเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ปริมาณเอนไซม์ในพืชผักลดลง

ดังนั้นหากต้องการอาหารที่อุดมด้วยเอนไซม์ จึงควรเลือกอาหารที่สด ใหม่ ปราศจากสารเคมี รวมทั้งไม่ผ่านความร้อนนั่นเองค่ะ และนี่คือที่มาของทางอาหารประเภท Raw Food และ Vegan Food ซึ่งเป็นเหมือนทางออกของการเติมเอนไซม์ เป็นทางเลือกของอาหารที่ดี และเป็นประโยชน์มากๆ ให้กับร่างกายของเรานั่นเองล่ะค่ะ

คอเรสเตอรอล อันตราย ที่มาจากอาหาร และความละเลยในเรื่องสุขภาพ


ทุกคนคงจะพอคุ้นเคยกับคอเรสเตอรอลกันพอสมควร ก็เจ้าคอเรสเตอรอลนี่ล่ะค่ะ ที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคที่อันตรายถึงชีวิตกันได้หลายอย่างเลย โดยหากร่างกายของเรามีคอเรสเตอรอลสูง ก็จะเป็นสาเหตุทำให้ไขมันไปสะสมอยู่ตามผนังหลอดเลือดต่างๆ ทำให้เลือดไหนผ่านได้ยากขึ้น หากเป็นหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ก็จะทำให้เสี่ยงต่อโรคหัวใจล้มเหลว และหากเป็นหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง ก็อาจก่อให้เกิดคามเสี่ยงต่อโรคเส้นโลหิตในสมองแตก หรือเกิดภาวะเส้นเลือดสมองอุดตันได้

วิธีการดูแลสุขภาพ เพื่อลดความเสี่ยงจากการมีคอเรสเตอรอลสูง ทำได้ไม่ยาก ที่สำคัญคงจะเป็นเรื่องของโภชนาการค่ะ  การระมัดระวังในเรื่องของคอเรสเตอรอลนั้น แนะนำว่า ในแต่ละวัน เราควรบริโภคอาหารที่ปรุงด้วยไขมันไม่เกิน 5-7 ช้อนชา ทานผัก และผลไม้สด ให้มากขึ้น และเลือกทานเนื้อปลา แทนที่เนื้อสัตว์ชนิดอื่นที่มีไขมันสูง ที่สำคัญ ควรออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายสร้างไขมันประเภท HDL ขึ้นมาให้มากขึ้น เป็นตัวช่วยในการขจัดไขมันตัวร้ายออกจากร่างกายของเราค่ะ

สำหรับผู้ที่เริ่มมีปัญหาคอเรสเตอรอลสูง โดยทั่วไป อาจจะมีทางเลือกสองอย่าง คือการใช้ยาตามคำสั่งแพทย์ ซึ่งก็มักจะเป็นยาในกลุ่มสแตติน หรืออีกทางเลือกหนึ่ง คือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเราเองค่ะ วิธีหลังนี้ นอกจากจะไม่ต้องง้อยาแล้ว ยังจะช่วยให้สุขภาพดีขึ้นในส่วนอื่นๆ อีกด้วย
มาดูกันค่ะ ว่าการดูแลสุขภาพ สำหรับผู้ที่มีคอเรสเตอรอลสูง โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนั้นมีอะไรบ้าง

อย่างแรก ลองลดน้ำหนักดูค่ะ การลดน้ำหนักลง 5-10% จะมีผลต่ออัตราการลดลงของคอเรสเตอรอลในเลือดอย่างมีนัยเลยทีเดียว ควบคุมปริมาณอาหาร ลดแป้ง ไขมัน และน้ำตาล ให้พอเหมาะกับปริมาณพลังงานที่ร่างกายต้องใช้จากกิจกรรมในแต่ละวัน  และออกกำลังกายสม่ำเสมอ เท่านี้ เดี๋ยวน้ำหนักก็จะเริ่มลดลงแล้วค่ะ

อย่างที่สอง เลือกทานอาหาร ผู้ที่มีคอเรสเตอรอลสูง ควรหลีกเลี่ยงการทานไขมันประเภทอิ่มตัว เปลี่ยนเป็นการทาน ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว ที่ได้จาก น้ำมันมะกอก ,ถั่วลิสง และน้ำมันคาโนลา เป็นต้น หลีกเลี่ยงของทอด หรืออาหารที่มีไขมันสูง อาหารทะเลที่มีคอเรสเตอรอลสูง เครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์ที่มีไขมันสูง และเปลี่ยนมาทานเนื้อปลา ผัก และผลไม้ ให้มากขึ้น

อย่างที่สาม ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ การออกกำลังกาย นอกจากจะทำให้ร่างกายสร้างไขมันประเภท HDL มากขึ้นแล้ว ยังทำให้ระบบต่างๆ ของร่างกายทำงานได้เต็มประสิทธิภาพขึ้นอีกด้วย สำหรับผู้ที่มีคอเรสเตอรอลสูง ควรออกกำลังกายอย่างน้อย สัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ครั้งละไม่น้อยกว่า 30 นาที โดยเลือกการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสภาพร่างกาย ทางเลือกดีๆ ของการออกกำลังกายมีหลายอย่างเลยค่ะ ทั้งการเดิน การปั่นจักรยาน หรือการว่ายน้ำ เหล่านี้ เป็นการออกกำลังกายที่มีการกระเทือนต่อร่างกาย และเสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและกระดูกน้อยกว่าการออกกำลังประเภทอื่นๆ

อย่างสุดท้าย พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำให้มากขึ้น และพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เพราะการรักษาร่างกายให้แข็งแรง ได้รับการพักผ่อนให้เพียงพอ จะเป็นการทำให้ระบบต่างๆ ของร่างกายมีความสมดุล มีผลต่อการสร้างเคมี และการรักษาฟื้นฟูตัวเองของร่างกายเรา ทั้งการตรวจสุขภาพ เพื่อให้รู้ถึงสภาพของร่างกายเรา ยังเป็นการดูแลสุขภาพในองค์รวมเพื่อให้เรารู้ถึงอาการผิดปกติ หรือความไม่สมดุลที่อาจเกิดขึ้นตั้งแต่เนิ่นๆ ค่ะ

Growth Hormone ฮอร์โมนสำคัญที่หลั่งในระหว่างการนอน


หลายๆ คน คงเคยได้ยินคำว่า โกรทฮอร์โมนกันบ่อยๆ ฮอร์โมนชนิดนี้ มีความสำคัญอย่างไรกันบ้าง วันนี้ มาทำความรู้จักกันค่ะ

โกรทฮอร์โมน (growth hormone) เป็นฮอร์โมนประเภทโปรตีน ที่เรียกว่าเปปไทด์ฮอร์โมน ถูกผลิตขึ้นและหลั่งออกมาจากเซลล์ที่มีชื่อเรียกว่า โซมาโตรโทรฟ (somatotrophs) ซึ่งอยู่ในจากต่อมใต้สมองส่วนหน้า เป็นฮอร์โมนที่มีผลต่อการเจริญเติบโต รวมทั้งกระบวนการเมตะบอลิสซึมของร่างกาย โดยการสร้างโกรทฮอร์โมนนั้นจะมีผลมาจากปัจจัยต่างๆ หลายอย่าง ทั้งในแต่ละช่วงอายุก็จะมีการหลั่งโกรทฮอร์โมนในระดับที่ไม่เท่ากันค่ะ

โกรทฮอร์โมนนั้นจะถูกผลิตขึ้นในขณะที่เรานอนหลับ โดยจะมีการหลั่งมากในชั่วโมงแรกของการนอนหลับสนิท และจะถูกส่งไปยังตับเพื่อเปลี่ยนเป็นสารคล้ายอินซูลิน หรือที่เรียกว่าโซมาโตเมดิน (Somatomedin) เพื่อนำไปใช้ในการเสริมสร้างเนื้อเยื่อของร่างกายเรา

โกรทฮอร์โมนนั้น มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการเจริญเติบโต โดยเฉพาะในวัยเด็กซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยควบคุมการเจริญเติบโตของกระดูก และกล้ามเนื้อให้แข็งแรงตลอดจนถึงช่วงอายุ 25 ปี รวมถึงมีผลต่อการสร้างภูมิต้านทาน และพัฒนาการทางสมองอีกด้วย

สำหรับผู้ใหญ่ โกรทฮอร์โมนก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะเป็นฮอร์โมนที่จะถูกส่งต่อผ่านกระแสเลือดไปยังตับ เพื่อให้ผลิตสารคล้ายอินซูลิน  Insulin-Like Growth Factor-1 (IGF-1) หรือ โซมาโตเมดิน (Somatomedin) ที่จะมีส่วนช่วยในการป้องกัน และยืดอายุของเซลล์ ทำให้ร่างกายไม่ทรุดโทรม หรือเสื่อมสภาพก่อนเวลาอันควร ทั้งยังช่วยกระตุ้นการทำงานของร่างกายในการเผาผลาญอาหารและน้ำตาลที่ได้จากการย่อยอาหาร ผลจาก IGF-1 ยังมีส่วนช่วยในการบำรุงกระดูก และกล้ามเนื้อ ที่รวมถึงกล้ามเนื้อหัวใจ ช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ ช่วยให้ระบบประสาท ความจำ และสายตาทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนั้น ยังมีรายงานถึงผลของ IGF-1 ต่อการช่วยเพิ่มเพิ่มระดับเม็ดเลือดขาว และการทำให้ร่างกายแข็งแรงมีชีวิตชีวา ดูอ่อนกว่าวัยอีกด้วยค่ะ

กับประโยชน์ที่มากมายขนาดนี้ แต่ระดับของโกรทฮอร์โมนกลับลดลงเรื่อยๆ ตามอายุที่เพิ่มขึ้น โดยเริ่มต้นจากการหลั่งในระดับสูงมากที่สุดในช่วงที่อยู่ในครรภ์มารดา จากนั้นจะลดลงเรื่อยๆ เมื่อเข้าสู่วัยเด็ก จนเริ่มเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ที่ฮอร์โมนนี้จึงจะกลับมาหลั่งมากขึ้นอีกครั้ง โดยจะหลั่งในขณะที่เรานอนหลับ ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโต ทั้งในส่วนโครงสร้างกระดูก กล้ามเนื้อ และสมอง หลังจากนั้น ต่อมพิทูอิทารี่ภายในสมองที่มีหน้าที่ผลิตโกรทฮอร์โมนจะเริ่มทำงานลดลง พบว่าหลังจากอายุ 20 ปีเป็นต้นไป การผลิตโกรทฮอร์โมนในร่างกายเรา จะลดลงอย่างน้อย 14% ในทุกๆ 10 ปี ทำให้เราอาจจะสรุปค่าเฉลี่ยของการผลิตโกรทฮอร์โมนแบ่งตามช่วงอายุได้ดังต่อไปนี้ คือ

อายุ 30 ปี ระดับโกรทฮอร์โมนคงเหลือ 86% ของวัยเด็ก
อายุ 40 ปี ระดับโกรทฮอร์โมนคงเหลือ 72% ของวัยเด็ก
อายุ 50 ปี ระดับโกรทฮอร์โมนคงเหลือ 58% ของวัยเด็ก
อายุ 60 ปี ระดับโกรทฮอร์โมนคงเหลือ 44% ของวัยเด็ก
อายุ 70 ปี ระดับโกรทฮอร์โมนคงเหลือ 30% ของวัยเด็ก

และหากใครเริ่มกังวล ว่าร่างกายของเรา เริ่มเสื่อมลง อันเป็นผลมาจากระดับของโกรทออร์โมนที่ลดน้อยลง ลองมาสังเกตกันดูค่ะ กับบางส่วนของสัญญาณ ที่เกิดจากปริมาณโกรทฮอร์โมนที่น้อยลง

– เริ่มหลงลืม ความจำเสื่อมลง
– มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย อารมณ์ไม่คงที่
– มีอาการของโรคกระดูกพรุน
– การเคลื่อนไหวขาดความกระฉับกระเฉง เฉื่อยชา
– เริ่มมีปัญหาทางสายตา
– มีผมขาว และเส้นผมบางลง
– ผิวหนังขาดความยืดหยุ่น ชุ่มชื้น หน้ามีกระฝ้า ผิวหนังเหี่ยวย่นหย่อนยาน
– คลอเลสเตรอรอน และไตรกีเซอร์ไรด์สูง
– ความดันโลหิตสูงหรือต่ำมากไป

นอกจากนั้น สัญญาณเตือนยังรวมถึงการมีน้ำหนักส่วนเกิน นอนหลับไม่ค่อยสนิท มีอาการป่วยมารบกวนบ่อยขึ้น รวมถึงสมรรถภาพทางเพศที่ลดลง
หลายๆ คนอาจจะเริ่มกังวล เพราะสัญญาณเตือนบางอย่างเริ่มมีให้เห็น แต่ขอบอกว่ายังไม่สายจนเกินไปค่ะ เพราะกระบวนการสร้างโกรทฮอร์โมนเป็นกระบวนการตามธรรมชาติ ที่แม้ว่าจะมีวิทยาการที่ก้าวหน้าที่อาจจะช่วยเสริมสร้างการผลิตโกรทฮอร์โมนได้ แต่การดูแลสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรง ยังคงเป็นสิ่งที่ดีที่สุดค่ะ ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ โดยเฉพาะควรเข้านอนแต่หัวค่ำ รวมถึงดูแลเรื่องของโภชนาการให้ครบถ้วน ควรบริโภคเนื้อสัตว์บ้าง หรือในผู้ที่ทานมังสวิรัติ ก็ควรเสริมอาหารประเภทโปรตีนให้เพียงพอ เพราะสารอาหารบางชนิดที่มีความจำเป็นในการสร้างฮอร์โมนเพื่อรักษาสมดุลในร่างกายนั้น พบได้ในอาหารประเภทโปรตีน ทั้งจากพืช และจากสัตว์ค่ะ

เลือกทานอะไรให้ได้วิตามิน

หลายๆ คนคงเคยสงสัย ว่าวิตามินที่ได้ยินชื่อกันนั้น มีมากมายไปหมด แต่ที่คุ้นเคยกันจริงๆ คงหนีไม่พ้น วิตามินซี วิตามินเอ วิตามินบี ที่ผ่านหูผ่านตากันบ่อยๆ วันนี้ มาดูทำความรู้จักกับวิตามินชนิดอื่นๆ กันซักหน่อย ว่ามีความสำคัญ มีประโยชน์ในด้านใด ที่สำคัญ วิตามินแต่ละชนิดพบได้ในอาหารประเภทใดกันบ้าง

เริ่มต้นด้วยกลุ่มวิตามินที่ละลายได้ในน้ำกันก่อนค่ะ

วิตามินซี – วิตามินที่หลายๆ คนต้องนึกถึงเป็นชื่อแรกๆ มีประโยชน์ในด้านการช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรค ช่วยในการเสริมสร้างเนื้อเยื่อต่างๆ รักษาบาดแผล รวมทั้งช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็ก นอกจากนั้น วิตามินซี ยังช่วยป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟัน และช่วยให้ผิวพรรณสดใสอีกด้วย : วิตามินซี พบได้มากในผัก ผลไม้สด โดยเฉพาะ ฝรั่ง มะเขือเทศ ส้ม และแอ้ปเปิ้ลสีเขียวค่ะ

วิตามินบี 1 – ป้องกันโรคเหน็บชา ตะคริว และอาการเหนื่อยง่าย เพิ่มการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตภายในร่างกาย และยังช่วยในการทำงานของระบบประสาท หัวใจ และกล้ามเนื้อ : วิตามินบี 1 พบในข้าวซ้อมมือ ตับ เนื้อหมู และไข่แดง

วิตามินบี 2 – ช่วยในการเผาผลาญไขมัน ทั้งยังมีประโยชน์ต่อการทำงานของระบบประสาทตา และป้องกันการเกิดโรคปากนกกระจอกอีกด้วย : วิตามินบี 2 พบได้ในอาหารประเภท ถั่ว เนื้อสัตว์ ไข่ ผักใบเขียว และนม

วิตามินบี 5 – ช่วยในการทำงานของระบบประสาท ระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินหายใจ และช่วยป้องกันโรคความจำเสื่อม : วิตามินบี 5 พบได้ในอาหารประเภท ไข่ ถั่วลิสง เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ งา และนม

วิตามินบี 6 – ช่วยสร้างเซลล์เม็ดเลือด ป้องกันโรคหลอดเลือดอุดตัน และโรคโลหิตจาง : วิตามินบี 6 พบได้ในเนื้อสัตว์ ตับ กล้วย ผักต่างๆ และเนื้อปลา

วิตามินบี 12 – ช่วยในการสังเคราะห์ DNA สร้างเม็ดเลือดแดง และช่วยในการสังเคราะห์โปรตีนในร่างกาย พบได้ในไข่ ถั่ว เนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากนม

สำหรับกลุ่มวิตามินที่ละลายในไขมัน ได้แก่

วิตามิน A – ช่วยในการบำรุงสายตา ช่วยในด้านการสร้างความต้านทางในระบบทางเดินหายใจ บำรุงผิวพรรณ ลดอาการอักเสบจากสิว และช่วยลบเลือนจุดด่างดำบนผิวหนัง : วิตามิน A พบมากในเนื้อสัตว์ ไข่แดง ผัก และผลไม้ที่มีสีเหลือง ส้ม และเขียวเข้ม เช่น ผักโขม ผักคะน้า ฟักทอง แครอท

วิตามิน D – มีความสำคัญในการช่วยให้ร่างกายสามารถดูดซึมแคลเซียม และฟอสฟอรัส ซึ่งจะเป็นผล ทำให้มีโครงสร้างของกระดูก และฟันที่แข็งแรง : วิตามิน D พบได้ในน้ำมันตับปลา นม เนย ปลาทะเล ตับสัตว์ และไข่แดง ทั้งนี้ แม้ว่าร่างกายคนเรา จะสามารถสร้างวิตามิน D ได้ หากได้รับแสงแดดอ่อนๆ ที่เพียงพอ ทว่าจากงานวิจัย กลับพบว่าคนส่วนมาก มักจะไม่ได้รับวิตามิน D ที่สร้างขึ้นอย่างเพียงพอ และจำเป็นที่จะต้องได้รับวิตามินดังกล่าวจากอาหารต่างๆ

วิตามิน E – ช่วยในเรื่องของผิวพรรณ ป้องกันการแตกของเยื้อหุ้มเซลล์ ช่วยในการทำงานของระบบประสาท ระบบสืบพันธุ์ และระบบกล้ามเนื้อ เป็นวิตามินที่มีอยู่มากในอาหารประเภท น้ำมันพืช เมล็ดทานตะวัน ถั่วต่างๆ รวมถึงผักสีเขียวปนเหลือง

วิตามิน K – มีความสำคัญในการช่วยให้เลือดแข็งตัวเวลาที่มีบาดแผล พบได้ในเนื้อสัตว์ ดอกกะหล่ำ บรอคโคลี ไข่แดง ตับ และถั่ว

การรับประทานอาหารที่มีความหลากหลาย และรับประทานผัก ผลไม้สด ในปริมาณที่เพียงพอ สามารถช่วยให้ร่างการได้รับวิตามินที่จำเป็นอย่างครบถ้วน ทว่าในสภาพการใช้ชีวิตในปัจจุบัน โดยเฉพาะกับความเร่งรีบในสังคมเมือง ทำให้เรามักจะละเลย ที่จะทานอาหารที่มีความหลากหลาย และมีคุณค่าทางอาหารที่มากพอ บ่อยครั้ง ทำให้เริ่มมีสัญญาณเตือนจากร่างกาย ทั้งที่มาในรูปของอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า ผิวพรรณที่เริ่มไม่สดใส อาการล้า ปวดศีรษะเป็นพักๆ รวมถึงอาการผิดปกติอื่นๆ

วันนี้ ได้ทราบถึงประโยชน์ ของวิตามินชนิดต่างๆ กันไปแล้ว ถึงเวลาที่เราจะเริ่มให้ความสำคัญ ใส่ใจกับเรื่องของโภชนาการ และเริ่มบำรุงร่างกายของเราให้แข็งแรงกันซักหน่อยแล้วล่ะค่ะ เลือกรับประทานอาหารที่มีคุณค่าให้เพียงพอ หรือจะเลือกหาวิตามินที่มาในรูปของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมาทานกันก็ได้ ที่สำคัญ หากจะเริ่มทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีอยู่มากมายในตลาด อย่าลืมศึกษารายละเอียด ตรวจสอบมาตรฐานของผลิตภัณฑ์และการผลิต รวมถึงขอคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกันก่อนนะคะ