ไหว้พระ รับตรุษจีน

วัดจีน-ศาลเจ้าหน่าจาไท้จื้อ
ตรุษจีนปีนี้ ชวนกันไปทำบุญ ไหว้พระให้เป็นศิริมงคลกันดีกว่าค่ะ ส่วนจะไปที่ไหนดี ตรุษจีนทั้งที ก็ต้องวัดจีนสิคะ… ไปดูกันดีกว่า ว่ามีวัดอะไรบ้างที่พี่น้องชาวจีนนิยมไปกราบไหว้ ทำบุญกันในช่วงปีใหม่ของชาวจีน…
——————–
Watmangkok500_3
1. วัดมังกรกมลาวาส หรือ วัดเล่งเน่ยยี่ เป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุง ระหว่าง ซอยเจริญกรุง 19 และ 21 ในเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร เป็นวัดเก่าแก่ที่เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีทั้งในหมู่ชาวไทยเชื้อสายจีน และชาวจีนจากต่างประเทศ

บางคนเรียกวัดมังกรกมลวาสนี้ว่า “วัดมังกร” ตามความหมายของภาษาจีน ส่วนชื่อวัดอย่างเป็นทางการคือ “วัดมังกรกมลาวาส” พระราชทานจาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นวัดที่ก่อตั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2414 เป็นสถาปัตยกรรมแบบจีนตอนใต้ของสกุลช่างแต้จิ๋ว ยึดตามแบบวัดหลวง คือ มีวิหารท้าวจตุโลกบาลเป็นวิหารแรก ตรงกลางเป็นพระอุโบสถ ข้างหลังพระอุโบสถเป็นวิหารเทพเจ้า

โดยเริ่มต้นจากประตูทางเข้า จะผ่านวิหารท้าวโลกบาลทั้ง 4 มีเทวรูปเทพเจ้า 4 องค์ (ในชุดนักรบจีน ถืออาวุธและสิ่งของต่างๆ กัน เป็นเทวรูปที่ชาวจีนเรียกว่า “ซี้ไต๋เทียงอ้วง” หมายถึงเทพเจ้าที่ปกปักษ์รักษา คุ้มครอง ทิศต่างๆ ทั้ง 4 ทิศ ถัดจากวิหารท้าวจตุโลกบาล จึงเป็น อุโบสถ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของพระประธานของวัด คือ พระโคตมพุทธเจ้า พระอมิตาภพุทธะ พระไภษัชยคุรุพุทธะ ทั้งหมด 3 องค์ หรือ “ซำป้อหุกโจ้ว” พร้อมพระอรหันต์อีก 18 องค์ หรือที่เรียกว่า “จับโป๊ยหล่อหั่ง” ส่วนทางด้านขวามีเทพเจ้าต่าง ๆ หลายองค์ เช่น เทพเจ้าคุ้มครองดวงชะตา หรือ “ไท้ส่วย เอี๊ยะ” เทพเจ้าแห่งยาหรือหมอเทวดา “หั่วท้อเซียงซือกง” และที่นิยมไหว้ขอพรมากคือ เทพเจ้าแห่งโชคลาภ “ไฉ่ซิ้งเอี๊ยะ” เทพเจ้าเฮ่งเจีย หรือ “ไต่เสี่ยหุกโจ้ว” พระเมตไตรยโพธิสัตว์หรือ “ปู๊กุ่ยหุกโจ้ว”ซึ่งคล้ายกับพระมหากัจจายนะ “กวนอิมผู่สัก” หรือ พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ “แป๊ะกง” และ “แป๊ะม่า” รวมเทพเจ้าในวัด จะมีทั้งหมด 58 องค์
——————–

dsc_0645
2. วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ หรือ วัดเล่งเน่ยยี่ 2 เป็นวัดจีนในความอุปถัมภ์ของคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่เลขที่ 75 หมู่ที่ 4 ตำบลโสนลอย อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี บนพื้นที่ 12 ไร่เศษ จัดสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เนื่องในวโรกาส งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี 9 มิถุนายน พ.ศ. 2539
ภายในวัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ ประกอบด้วยวิหารต่างๆ ที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรม ตามแนวปรัชญา และคติธรรมทางพระพุทธศาสนา จีนนิกายฝ่ายมหายาน อันประกอบด้วย วิหารพระกวนอิมโพธิสัตว์, วิหารหมื่นพุทธเจ้า, วิหารบูรพาจารย์, ห้องปฏิบัติธรรม, ที่พำนักสงฆ์ และโรงเรียนพระปริยัติธรรม โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ แทนพระองค์ พร้อมด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ทรงเป็นองค์ประธานในพิธีสมโภชเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2551 และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงตัดหวายลูกนิมิตพระอุโบสถ เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2552
——————–

d7a2bcc7-da06-a034-cfec-523ad0917b61
3. วัดไตรมิตรวิทยาราม เป็นวัดโบราณอยู่ในที่ลุ่มพระอารามเป็นเรือนไม้ มีชื่อเดิมว่า “วัดสามจีน” ตั้งอยู่ที่ถนนมิตรภาพไทย-จีน แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ ในปีพุทธศักราช 2477 พระมหากิ๊ม สุวรรณชาต ผู้รักษาการในหน้าที่เจ้าอาวาสเป็นผู้ริเริ่มปรับปรุงวัด ต่อมาในปีพุทธศักราช 2480 ได้รับอนุมัติจากมหาเถรสมาคมให้ปรับปรุงสภาพวัดให้ดีขึ้น ปีพุทธศักราช 2482 พ่อค้าประชาชน คณะครูและนักเรียน ได้ร่วมกันปฏิสังขรณ์และเปลี่ยนนามใหม่ เป็นชื่อ วัดไตรมิตรวิทยาราม ซึ่งมีความหมายว่า เพื่อน 3 คนร่วมกันสร้างวัดนี้ ประกอบกับวัดเป็นที่ตั้งโรงเรียนปริยัติธรรมและโรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัยของรัฐบาลอยู่ภายในบริเวณของวัด

ภายในวัด ประดิษฐานพระพุทธทศทลญาณ พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ปูนปั้น ลงรักปิดทอง ที่ได้รับการยกย่องว่า เป็นพระพุทธรูปที่มีพระพุทธลักษณะงดงามอย่างมาก และ “พระสุโขทัยไตรมิตร” เป็นพระพุทธรูปสำคัญของวัด เป็นพระพุทธรูปทองคำที่ใหญ่ที่สุดและได้รับการบันทึกในหนังสือบันทึกสถิติโลกกินเนสส์ มีหน้าตั้งกว้าง 3.01 เมตร สูง 3.91 เมตร องค์พระสามารถถอดได้ 9 องค์ จากฐานองค์พระขึ้นไปเนื้อทองบริสุทธิ์ 40% พระพักตร์มีเนื้อทอง 80% ส่วนพระเกศมีน้ำหนัก 45 กิโลกรัม เป็นเนื้อทองบริสุทธิ์ 99.99% สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสุโขทัย ปางมารวิชัย เข้าใจว่า เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้โปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ไปอัญเชิญพระพุทธรูปมาจากเมืองเหนือเพื่อนำมาประดิษฐานยังวัดสำคัญ พระพุทธรูปที่เชิญมามีจำนวนมาก ทำให้ดูแลไม่ทั่วถึง ขุนนางผู้หนึ่งจึงแอบเอาปูนไล้พระพุทธรูปทองคำแล้วนำมาไว้ยังวัดที่ตนสร้าง จนได้อันเชิญมาไว้ที่วัดพระยาไกร (วัดโชติการาม) ต่อมาบริษัท อี๊สต์เอเชียติ๊ก ได้ขอเช่าที่วัด (ซึ่งขณะนั้นเป็นวัดร้างแล้ว) เป็นโรงเลื่อยจักร จึงได้อัญเชิญไว้ที่ข้างพระเจดีย์และปลูกเพิงสังกะสีมุงเป็นหลังคากั้นไว้อย่างหยาบ ๆ หลังจากนั้นเป็นเวลาเกือบ 20 ปี เมื่อพระอุโบสถและพระวิหารหลังใหม่สร้างเสร็จจึงได้อัญเชิญขึ้นประดิษฐาน แต่ในระหว่างการเคลื่อนย้ายปูนที่หุ้มองค์พระกระเทาะออก จึงทำให้เห็นองค์พระข้างในเป็นทองคำ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2498
——————–

59_big
4. วัดกุศลสมาคร สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2384 ได้รับพระราชทานนามว่า “วัดกุศลสมาคร” มีความหมายว่า “วัดที่มีแต่ความดี ความบริสุทธิ์ ดุจน้ำในสาคร” ภายในวัด ประดิษฐานพระประธานในอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่อยู่คู่กับอุโบสถมาตั้งแต่เริ่มสร้างมีนามว่า “พระศรีศากยมุนีเส็กเกียยูไล” หรือรู้จักกันในนามว่า พระยูไล ซึ่งเดิมทีเดียวเป็นพระพุทธรูปที่มีขนาดองค์ไม่ใหญ่นัก อยู่คู่กับเยาวราชมาร่วมร้อยปี ต่อมาภายหลัง ท่านพระครูบริหารอนัมพรต (เจริญ กิ๊นเจี๊ยว) หรือพระมหาคณานัมธรรมปัญญาธิวัตร เจ้าคณะใหญ่อนัมนิกาย เจ้าอาวาสวัดกุศลสมาครรูปปัจจุบัน ได้เป็นผู้นำพุทธศาสนิกชนบูรณะองค์พระพุทธรูปใหม่ โดยใช้ปูนปั้นโบกทับองค์เก่าให้ใหญ่ขึ้นกว่าองค์เดิม กระทั่งประมาณปีพุทธศักราช ๒๕๔๗ ได้บูรณะครั้งล่าสุดลงรักปิดทอง ทำให้องค์พระยูไลสวยและเด่นสง่าคู่กับอุโบสถวัดกุศลสมาครเป็นอย่างมาก ดุจในปัจจุบัน

นอกจากนี้ยังมีพระโพธิสัตว์อีกหลายพระองค์ในอุโบสถ เช่น พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์หรือพระแม่กวนอิมปางเหยียบปลา ท้าวมหาชมพูหรือพระเวทโพธิสัตว์ผู้เป็นธรรมบาล พระกษิติครรภโพธิสัตว์ พระศรีอาริยเมตไตรยหรือหนี่เล็กฮุกโจ้ว เป็นต้น

——————–

e7a17eca8ed888fa17d798cd6a60c092
5. วัดบำเพ็ญจีนพรต สังฆารามของคณะสงฆ์จีนนิกายที่เก่าแก่แห่งหนึ่งในประเทศไทย เดิมเป็นวิหารพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ร้าง ชื่อ “ ย่งฮกอำ ” มีป้ายชื่อลงปีรัชกาลเฉียนหลง ปีอิกเบ้า (ค.ศ. 1795 ) ตรงกับ พ.ศ. 2338 กล่าวกันว่าสร้างโดยชาวจีนในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ก่อนสร้างวัดกุศลสมาคร ฝ่ายอนัมนิกาย (วัดญวน) ได้มีพระอนัมมาอาศัยพักอยู่ชั่วคราว เมื่อสร้างวัดเสร็จจึงย้ายไปอยู่วัดญวน

ต่อมาพระอาจารย์สกเห็งจาริกมาจากประเทศจีน ราวก่อนปี พ.ศ. 2414 และพำนักอยู่ ณ สถานที่นี้ ท่านได้ปฏิสังขรณ์วิหารพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น “ ย่งฮกยี่ ” มีป้ายชื่อลงปี พ.ศ. 2430 (รัชกาลกวงสู ปีที่ 13 ค.ศ. 1887 ) แล้วกราบบังคมทูลขอพระราชทานนามวัดจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงพระราชทานนามวัดว่า “ วัดบำเพ็ญจีนพรต ” และโปรดพระราชทานสมณศักดิ์ พระอาจารย์สกเห็งเป็นพระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร เจ้าคณะใหญ่จีนนิกายรูปแรก

ภายวัดในประดิษฐานพระประธานปูนปั้นลงรักปิดทองศิลปะแบบจีน 3 องค์ โดยองค์กลาง คือ พระศากยมุนีพระพุทธเจ้า ทรงประทับเป็นประธานแห่งสหโลกธาตุ ส่วนองค์ขวา คือ พระอมิตาภะพุทธเจ้า ทางซ้าย คือ พระไภษัชยะคุรุพุทธเจ้า สองข้างพระประธานทางซ้าย คือ พระมหากัสสะปะเถระ และทางขวา คือ พระอานนท์เถระ นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปศิลาขาวศิลปะพม่า และพระพุทธรูปโลหะ 3 องค์ ศิลปะไทยรัตนโกสินทร์ตอนต้นประดิษฐานให้สักการบูชากันอีกด้วย
——————–

นอกจากวัดที่กล่าวมาทั้ง 5 แห่งแล้ว วัดอื่นๆ ที่เป็นที่นิยมไปกราบไหว้กันของชาวไทนเชื้อสายจีน ยังมี ศาลเจ้าหน่าจาซาไท้จื้อ (จ.ชลบุรี) ศาลเจ้าโป๊ยเซียน (เจริญกรุง) ศาลเจ้าพ่อเสือ (ถ.ตะนาว) ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี (อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี) ศาลเจ้าปุงเถ่ากง (จ.เชียงใหม่) และ วัดมังกรบุปผาราม (วัดเล่งฮัวยี่) (จ.จันทบุรี)
ตรุษจีนปีนี้ ใครอยู่ใกล้ที่ไหน อย่าลืมไปไหว้พระเสริมความเป็นศิริมงคลกันค่ะ

ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้ นะคะ ^^

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s