Monthly Archives: November 2016
คำพ่อสอน … ความสุขในชีวิต
ความสุขในชีวิต ตามคำสอนของพ่อ
ความสุขด้านกาย
“…กายที่มีสุขภาพดีก็หมายความว่ากายที่แข็งแรง ที่เดินได้ ยืนได้ นั่งได้ มีกำลัง มีทุกอย่าง รวมทั้งมีความคิดที่ดี ถ้ามีสุขภาพจิตที่ดีก็มีกำลัง เป็นกำลังที่จะแผ่ความเมตตาให้แก่คนอื่น มีกำลังที่จะคิดในสิ่งที่ถูกต้อง ที่จะทำให้มีความเจริญรุ่งเรืองแก่ตัวและความเจริญรุ่งเรืองในสังคม…”
(พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเข้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในโอกาสที่คณะจิตแพทย์ นักวิชาการสุขภาพจิต อาจารย์จากมหาวิทยาลัย และผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันต่างๆ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ วันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520)
“…ร่างกายของเรานั้น ธรรมชาติสร้างมาสำหรับให้ออกแรงใช้งาน มิใช่ให้อยู่เฉยๆ ถ้าใช้แรงให้พอเหมาะพอดีโดยสม่ำเสมอ ร่างกายก็เจริญแข็งแรง คล่องแคล่ว และคงทนยั่งยืน ถ้าไม่ใช้แรงเลย หรือใช้ไม่เพียงพอ ร่างกายก็จะเจริญแข็งแรงอยู่ไม่ได้ แต่จะค่อยๆ เสื่อมไปเป็นลำดับ และหมดสมรรถภาพไปก่อนเวลาอันสมควร ดังนั้น ผู้ที่ปกติทำการงานโดยไม่ได้ใช้กำลังหรือใช้กำลังแต่น้อย จึงจำเป็นต้องหาเวลาออกกำลังกายให้พอเพียงกับความต้องการตามธรรมชาติเสมอทุกวัน มิฉะนั้น จะเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ที่เขาจะใช้สติปัญญาความสามารถของเขาทำประโยชน์ให้แก่ตนเองและแก่ส่วนรวมได้น้อยเกินไป เพราะร่างกายอันกลับกลายอ่อนแอลงนั้นจะไม่อำนวยโอกาสให้ทำการงานโดยมีประสิทธิภาพได้…”
(พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเข้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เพื่อเชิญไปอ่านในการประชุมสัมมนาเรื่องการออกกำลังเพื่อสุขภาพ วันพุธที่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2523)
“…คนเราถ้ามีอนามัยแข็งแรง มีจิตใจที่ร่าเริง ก็สามารถที่จะทำงานได้ดี มีประสิทธิภาพสูง ถ้าหากว่าทำงานเคร่งเครียด ไม่มีความหย่อนใจบ้าง หรือไม่มีการปฏิบัติเล่นกีฬา ก็จะไม่สามารถที่จะทำงานที่มีประสิทธิภาพสูงและมีผลดีต่อส่วนรวม…”
(พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเข้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในโอกาสที่สมุหราชองครักษ์ นำข้าราชการสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กองบัญชาการทหารสูงสุด กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และกรมตำรวจ เฝ้าฯ น้อมเกล้าฯ ถวายเรือใบ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันพุธที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2530)
ความสุขด้านจิตใจ
“…ความสบายใจของคนเป็นของที่หายาก คนเราต้องมีความสบายใจ จึงจะมีชีวิตที่ราบรื่นได้…”
(พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเข้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่คณะกรรมการจัดงาน “๕ ธันวาวันมหาราช” ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันพุธที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2521)
“…สุขภาพจิตและสุขภาพกายนั้น พูดได้ว่าสุขภาพจิตสำคัญกว่าสุขภาพกายด้วยซ้ำ เพราะว่าคนไหนที่ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง แต่จิตใจฟั่นเฟือน ไม่ได้เรื่องนั้น ถ้าทำอะไรก็จะยุ่งกันได้ กายที่แข็งแรงนั้นก็จะไม่เป็นประโยชน์ต่อตนเองหรือสังคมอย่างใด ส่วนคนที่สุขภาพกายไม่สู้จะแข็งแรง แต่สุขภาพจิตดี หมายความว่าจิตใจดี รู้จักจิตใจของตัว และรู้จักปฏิบัติให้ถูกต้อง ย่อมเป็นประโยชน์ต่อตัวเองมาก และเป็นประโยชน์ต่อสังคมได้มาก ในที่สุดสุขภาพจิตที่ดีก็อาจจะพามาซึ่งสุขภาพทางกายได้ หรือถ้าสุขภาพกายไม่ดีนักก็ไม่ต้องถือว่า เป็นของสำคัญ…”
(พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเข้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในโอกาสที่คณะจิตแพทย์ นักวิชาการสุขภาพจิต อาจารย์จากมหาวิทยาลัย และผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันต่างๆ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ วันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520)
“…การฝึกหัดทางใจนี้สำคัญอย่างยิ่งยวด จำเป็นที่จะต้องระมัดระวัง ฝึกฝนอยู่เสมอตลอดชีวิต จึงจะคงความสุจริต เข้มแข็ง และเป็นระเบียบไว้ได้ ไม่พ่ายแพ้แก่ความลุ่มหลงลืมตัว…”
(พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเข้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและอนุปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา ๒๕๑๕ ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2516)
ความสุขของการอยู่ร่วมกัน
“…ในชีวิตทุกวันๆ ก็ได้มีโอกาสเข้าโรงเรียน ก็หาความรู้ แล้วมีโอกาสที่จะได้เห็นชีวิตของตัวเองและของคนอื่น ขอให้ถือว่าเป็นอาหารทั้งนั้น เป็นอาหารสมอง และเมื่อได้รับอาหารแล้ว ให้ไปพิจารณา คือไปไตร่ตรอง ไปคิดให้ดี ถ้าทำเช่นนี้แล้ว ทุกคนจะสามารถที่จะสร้างตัวเองให้แข็งแรง เพื่อที่จะทำประโยชน์แก่ตนเอง สร้างบ้านเมือง สร้างท้องที่ของตัว สร้างตนเองให้เจริญตามที่ทุกคนต้องการ…”
(กระแสพระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเข้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่คณะเยาวชนชายหญิงจากถิ่นทุรกันดาร ในเขตปฏิบัติการของหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ต่างๆ รวม ๒๔ จังหวัด พร้อมด้วยพี่เลี้ยงและเจ้าหน้าที่ ณ ศาลาดุสิดาลัย พระราชวังดุสิต วันศุกร์ที่ 6 เมษายน 2516)
“…ถ้าเราแผ่เมตตาให้คนอื่นหรือมีปรารถนาดีต่อผู้อื่น เข้าใจว่าคนนั้น หรือบุคคลอื่นจะรู้สึก ต้องรู้สึกว่ามีปรารถนาดีต่อผู้อื่นต่อบุคคลนั้นขึ้นในใจ ของเราก็ต้องรู้สึกว่ามีคนอื่นมาปรารถนาดีต่อเรา ฉะนั้นเป็นการยืนยันว่า การปรารถนาดีต่อผู้อื่นทำให้ผู้อื่นปรารถนาดีต่อเรา และปรารถนาดีต่อเราอันนี้เองที่เป็นความสุข…”
(พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเข้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่ผู้นำลูกเสือชาวบ้านกรุงเทพมหานคร ณ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ วันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2521)
“…ในภาษาทุกภาษาก็ต้องมีคำว่า เมตตา คือเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน มองคนอื่นในทางที่จะช่วยเหลือเขา มากกว่าที่จะไปแย่งชิงเขา ทุกภาษาทุกศาสนาก็มีจิตใจนี้ หรือวิธีการนี้ ขอให้ท่านทั้งหลายทำต่อไปด้วยความแน่วแน่ และด้วยความสุจริตใจ จะเป็นทางที่จะช่วยส่วนรวมให้อยู่เย็นเป็นสุข…”
(พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเข้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่คณะกรรมการอำนวยการสันนิบาตมูลนิธิแห่งประเทศไทย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันศุกร์ที่ 19 ธันวาคม 2518)
ที่มา : หนังสือ “คำพ่อสอน”, ประมวลพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสเกี่ยวกับความสุขในการดำเนินชีวิต โดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ
โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ
เมื่อทราบชื่อโครงการตามพระราชดำริว่า “โครงการชั่งหัวมัน” หลายท่านก็คงจะสงสัยโครงการตาม พระราชดำรินี้ เป็นโครงการเกี่ยวกับอะไร และมีที่มาที่ไปอย่างไร ต่างตีความกันไปต่าง ๆ นานา
จึงน่าจะมาทำความเข้าใจโครงการนี้ ว่ามีที่มาอย่างไร ให้เข้าใจแจ่มชัดด้วย ที่พระองค์ท่านได้ ทรงกระทำให้แก่ชาติบ้านเมืองของเราอีกโครงการหนึ่ง จากจำนวนทั้งหมด ๔,๐๐๐ กว่า โครงการ เป็น โครงการตามพระราชดำริล่าสุด
ประวัติความเป็นมา

เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๕๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงซื้อที่ดินจากราษฎรบริเวณอ่างเก็บน้ำ หนองเสือ ประมาณ ๑๒๐ ไร่ และต่อมา ปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ทรงซื้อแปลงติดกันเพิ่มอีก ๑๓๐ ไร่ รวมเนื้อที่ทั้งหมด ๒๕๐ ไร่ โดยมีพระราชดำริให้ทำเป็นโครงการตัวอย่างด้านการเกษตร รวบรวมพันธุ์พืชเศรษฐกิจในพื้นที่ อ.ท่า ยาง จ.เพชรบุรี และพื้นที่ใกล้เคียงมาปลูกไว้ที่นี่ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๒ เป็นต้นมา และพระราชทานพันธุ์มันเทศซึ่งออกมาจากหัวมันที่ตั้งโชว์ไว้บนตาชั่งในห้อง ทรงงานที่วังไกลกังวล
ให้นำมาปลูกไว้ที่นี่ พระราชทานชื่อโครงการว่า “โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรความคืบหน้าโครงการด้วย พระองค์เอง เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๒
พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๒
“ชั่งหัวมัน” หมายถึง การชั่งน้ำหนักมันเทศ
พื้นที่ที่ตั้งของโครงการนี้อยู่ที่ บ้านหนองคอกไก่ ตำบลเขากระปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี คุณดิสธร วัชโรทัย รองเลขาธิการพระราชวัง ได้กรุณาให้ข้อมูลถึงที่มาของโครงการชั่งหัวมันว่า
ครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปประทับที่พระราชวังไกลกังวล ทรงมีพระราชประสงค์ให้ นำมันเทศที่ชาวบ้านนำมาถวาย วางไว้บนตาชั่งแบบโบราณ แล้วพระองค์เสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพฯ
พอพระองค์เสด็จพระราชดำเนินกลับไปยังพระราชวังไกลกังวล จึงพบว่า มันเทศที่วางบนตัวชั่ง มีใบงอกออกมา จึงรับสั่งให้นำหัวมันนั้นไปปลูกใส่กระถางไว้ในวังไกลกังวล แล้วทรงมีพระราชดำรัสให้หา พื้นที่เพื่อทดลองปลูกมันเทศ
เป้าหมายของโครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ
โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ เป้าหมายต้องการให้เป็นศูนย์รวมพืชเศรษฐกิจของ อ. ท่ายาง เพชรบุรี โดยเลือกพันธุ์พืชท้องถิ่นที่ดีที่สุดเข้ามาปลูก แล้วให้ภาครัฐและชาวบ้านร่วมดูแลด้วยกัน เพื่อ แลกเปลี่ยนแนวคิด
คุณดิสธร บอกว่า โครงการชั่วหัวมันเป็นการบริหารทรัพยากรแบบบูรณาการ โดยใช้ทรัพยากร ที่มีอยู่ให้คุ้มค่ามากที่สุด ขณะเดียวกันก็พยายามเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส โดยคาดว่าอนาคตจะเป็นแหล่ง เรียนรู้ให้กับประชาชนโดยทั่วไปได้เข้าชม
ที่ตั้งของโครงการอยู่ที่ บ้านหนองคอกไก่ ตำบลเขากระปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี
- พืชสวนครัว ได้แก่ มะเขือเทศ มะเขือเปราะ พริก กะเพรา โหระพา มะนาวแป้น ผักชี
- ผลไม้ ได้แก่ สับปะรดปัตตาเวีย แก้วมังกร มะละกอแขกดำ มะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวแกง ชมพู่เพชรสายรุ้ง กล้วยน้ำว้า กล้วยหักมุก
-
พืชเศรษฐกิจ ได้แก่ อัอยโรงงาน มันเทศญี่ปุ่น มันเทศออสเตรเลีย มันต่อเผือก มันปีนัง หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวเหนียวพันธุ์ชิวแม่จัน ข้าวเจ้าพันธุ์ข้าวหอม ข้าวจ้างพันธุ์ลีซอ ข้าวเจ้าพันธุ์ข้าวขาว ยางนา ยางพารา ชมพู่เพชร
บ้านไร่ ของในหลวง
ทะเบียนบ้านเลขที่ 1 เป็น บ้านพักส่วนพระองค์ของในหลวง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถือโฉนดและมีชื่อในทะเบียนบ้านเลขที่ 1 หมู่ที่ 5 บ้านหนองคอกไก่ ต.เขากระปุก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี โดยทรงขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรทำไร่
ภาพแปลงปลูกพืชเกษตรที่ขึ้นชื่อของจังหวัดเพชรบุรี
แปลงปลูกหน่อไม้ฝรั่ง




คุณนริศ สมประสงค์ เจ้าหน้าที่งานในพระองค์ โครงการชั่งหัวมัน เสริมว่า แรก ๆ ชาวบ้านก็พากันสงสัยมาก เริ่มตั้งแต่ชื่อโครงการชั่งหัวมันแล้ว
ชาวบ้านตีความชื่อโครงการกันพอสมควร แรก ๆ ก็ตีความออกไปทางการเมือง ว่าพระองค์ท่าน เบื่อแล้ว ก็ต้องชี้แจงทำความเข้าใจว่า ไม่ใช่อย่างนั้น
เหตุผลจริง ๆ คือ หัวมันบนตาชั่งยังขึ้นได้ แล้วที่แห้งแล้งขนาดไหน มันก็ต้องขึ้นได้
ข้อสงสัยต่อมารวมไปถึง ทำไมพระองค์ท่านมาซื้อที่ดินที่นี่ ซึ่งแห้งแล้งมาก จะปลูกอะไรก็ลำบาก ติดปัญหาเรื่องน้ำ
ในหลวงเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ครั้งแรก ผืนดินที่นี่มีแต่ยูคาลิปตัส ชาวบ้านก็ยังไม่รู้ว่า ในหลวงท่านมาซื้อที่ดินผืนนี้เอาไว้
คุณนริศ บอกว่า เราทุกคนคงทราบ อะไรที่ยากลำบากพระองค์ท่านทรงโปรด พระองค์ท่านจะทำให้ดูเพื่อพิสูจน์ว่า ทำได้เพื่อจะได้เป็นแม่บทในการที่จะทำ เหมือนเป็นศูนย์กลางเรียนรู้ด้านเกษตรกรรมของชาวบ้านที่นี่
ผืนดินโครงการชั่งหัวมัน ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้าน ๒ ตำบล ตำบลกลัดหลวง ตำบลเขากระปุก มาช่วยกัน เกษตรอำเภอก็เข้ามาช่วยจัดสรรพื้นที่ ท่านดิสธรก็เข้ามาร่วมวางแผน จะให้ชาวบ้านปลูกอะไร
อยากจะให้มีการร่วมมือร่วมแรงกันระหว่างชาวบ้าน ซึ่งทุกคนก็เต็มใจที่จะปลูกถวายให้พระองค์ท่าน
โครงการชั่งหัวมัน อยากให้มีการร่วมมือร่วมแรงกันระหว่างชาวบ้าน ซึ่งทุกคนก็เต็มใจที่จะปลูกถวายให้พระองค์ท่าน เพราะอยากให้พระองค์ท่านมีความสุข
หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวไร่ ข้าวโพด มะพร้าว แก้วมังกร กะเพรา พริก มะนาว ถูกจัดสรรลงแปลง ปลูกอย่างรวดเร็ว เหมือนฝัน ราวกับเนรมิต
วันนี้ ผลผลิตที่สร้างรายได้ให้มากที่สุด คือ มะนาวพันธุ์พื้นเมือง
ในหลวงท่านทรงมีพระราชดำริว่า ไม่ต้องการให้ใส่สารเคมี หรือถ้าจะใช้ก็ใช้น้อยที่สุด มะนาว ของพระองค์ท่าน ผิวจะไม่ค่อยสวย เรียกว่าเป็น มะนาวลาย แต่ผิวบางน้ำเยอะ เป็นที่ต้องการของตลาด สนนราคาก็ขึ้น ๆ ลง ๆ ไปตามกลไกตลาด แต่ละวันไม่เหมือนกัน
พระองค์ท่านทรงให้ปรับปรุงระบบระบายน้ำที่อ่างเก็บน้ำหนองเสือ เพื่อใช้ในโครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริอีกด้วย
ทุ่งกังหันลมผลิตไฟฟ้า
นอกจากแม่แบบด้านการเกษตรแล้ว ยังมี กังหันลมผลิตไฟฟ้า ตามนโยบายรัฐบาลที่ใช้พลังงานทดแทนผลิตกระแสไฟฟ้า มีกำลังการผลิตขนาด ๕๐ กิโลวัตต์ ปัจจุบันมีทั้งหมด ๒๐ ต้น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จะดำเนินการเข้ามารับซื้อพลังงานสะอาดที่ได้นี้ต่อไป
ไฟฟ้าพลังงานสะอาดไม่ได้ใช้หมุนเวียนในไร่ ผลิตได้เท่าไร จะเอาไปหักลบกับพลังงานที่ใช้ ทุกเดือนจะมีเงินเหลือ การไฟฟ้าฯ ตีเช็คกลับคืนมา ๓-๔ ครั้งแล้ว
ภาพทุ่งกังหันลมผลิตไฟฟ้า
พื้นที่ทั้งหมดของโครงการชั่งหัวมัน ๒๕๐ ไร่ วันนี้ถึงจะยังไม่ถูกพัฒนาเต็มทั้งหมดทุกจุด แต่ในภาพรวมโครงการกำลังเดินหน้าต่อไปเรื่อย ๆ อย่างเป็นรูปธรรม
แค่เพียงไม่กี่เดือน โครงการชั่งหัวมันยังยังเขียวขจีได้ขนาดนี้
หากผ่านไปเป็นปี หลายปี พื้นที่ที่เคยแห้งแล้งทุรกันดารผืนนี้ คงจะกลายเป็นแหล่งเพาะปลูกชั้นยอด ขึ้นชื่ออันดับหนึ่งเป็นแน่
นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ที่พสกนิกรชาวไทยที่ทำการเกษตรในผืนดินที่แห้งแล้ง จะได้มีศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านการเกษตรกรรม ทั้งชาวบ้านบริเวณนี้ และเกษตรกรชาวไทย เพื่อศึกษาและ นำไปดัดแปลงใช้ให้เหมาะสมและเป็นประโยชน์ในผืนดินของตนเองต่อไป
———-
ขอบคุณข้อมูลบทความจาก -oknation.nationtv.tv-
ด้วยรำลึก และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้